เคลบลี คัสตอมไรเฟิล
.308 วินฯ รังเพลิงสำหรับกระสุนลาปัว

อวป. ได้เคยเสนอรายงานทดสอบปืนไรเฟิลคัสตอมจากโรงงานเคลบลี ซึ่งเป็นปืนไรเฟิลที่ออกแบบมาสำหรับการยิงแข่งขันในแบบพาดแท่นโดยเฉพาะ เป็นปืนที่ใช้โครงปืนจากฝีมือการออกแบบของคุณ Ralph Stolle โดยพัฒนาจากโครงปืนของเรมิงตัน แต่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ใน การผลิตจากเหล็กเป็นอะลูมินั่มแบบที่ใช้ทำโครงสร้างเครื่องบิน เบอร์ 7075-T651 ซึ่งเป็นอะลูมินั่มอัลลอยที่เจือสังกะสีเป็นส่วนผสมหลัก อะลูมินั่มสูตรนี้มีคุณลักษณะในเรื่องของความแข็งและทนต่อการเสียดสีได้ดี การที่ใช้โครงปืนเป็นโลหะน้ำหนักเบาทำให้ออกแบบโครงปืนมีพื้นที่หน้าตัดกว้างค่อนข้างมาก ช่วยส่งถ่ายแรงรีคอยล์ไปสู่สต๊อกได้เต็มที่


ภาพเต็มของเคลบลี ถ่ายบริเวณสนามทดสอบ

ปัจจัยที่ทำให้เคลบลีกระบอกนั้นยิงได้แม่นยำเป็นพิเศษก็คือใช้วิธีคว้านรังเพลิงให้ มีส่วนคอรังเพลิงแคบกว่ารังเพลิงมาตรฐาน เนื่องจากคอรังเพลิงปืนมาตรฐานจะโตประมาณ 0.342-0.345 นิ้ว แต่คอรังเพลิงเคลบลีกระบอกนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.332 นิ้ว คอรังเพลิงที่เล็กลงจะช่วยให้เจ้าของปืนสามารถนำเอากระสุนพิเศษที่ หัวกระสุนวางตัวอยู่ในรังเพลิง แบบที่แนวแกนหัวกระสุนอยู่ร่วมแกนเดียวกับลำกล้องปืน พอดิบพอดี แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นปืนที่ใช้รังเพลิงคอแคบจะยิงกระสุนธรรมดาไม่ได้เลย เพราะจะต้องใช้กระสุนปืนพิเศษที่กลึงปากปลอกกระสุนให้มีความหนาเพียง 0.012 นิ้ว สม่ำเสมอกัน (คอปลอกมาตรฐานจะหนา = 0.013"-0.015")

เทคนิคการใช้รังเพลิงแบบ "คอแคบ" ในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติที่ปืน เบ็นช์เรสต์ทุกกระบอกในอเมริกาใช้กันอยู่ ใครไม่ใช้ถือว่าต้องการเข้ามาแข่งเพื่อเป็น ไม้ประดับในสนาม ไม่มีโอกาสได้รางวัลกลับบ้าน แต่ในบ้านเราออกจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะธรรมดากระสุนไรเฟิล .308 แบบมาตรฐานก็หายากอยู่แล้ว ยิ่งเป็น กระสุนพิเศษแบบนี้ก็คงไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น ทางผู้นำเข้าจึงได้สั่งเคลบลีแบบคอรังเพลิง
.332 นิ้วเข้ามาเพียงกระบอกเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็สั่งเป็นแบบรังเพลิงมาตรฐาน เพื่อที่จะได้ใช้กระสุนทั่วไปได้


หงายดูท้องปืนจะเห็นมีสกรู 4 ตัว แต่ที่ทำหน้าที่ยึดสต๊อก กับโครงปืนจริงๆ จะเป็นตัวโตๆ 3 ตัว ส่วนที่อยู่หน้าโกร่งไกจะยึด โกร่งไกอย่างเดียว

ยังสงสัยอยู่ว่าทางเคลบลีคงจะงงๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงได้สั่งปืนคัสตอม แต่ดันใช้รังเพลิงมาตรฐาน อันที่จริงนั้นการที่ เคลบลีเป็นผู้ผลิตปืนคัสตอมที่เราสามารถจะสั่งให้ทำรังเพลิงปืนแบบไหนก็ได้ ก็น่าจะสั่ง ให้เป็นแบบรังเพลิงที่คอแคบมากที่สุดเท่าที่ยังใช้กระสุนทั่วไปได้ ผมลองรวบรวมหากระสุน .308 มาวัดขนาดคอปลอกกระสุน โดยพยายามหามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็พบว่ากระสุนที่คอปลอกเล็กที่สุดเป็นของวินเชสเตอร์ กับ RWS โดยวัดได้ค่าเฉลี่ยได้ 0.365 นิ้ว ส่วนที่คอกระสุนอวบที่สุด ก็คือลาปัวกับเฟเดอรัล ซึ่งวัดค่าเฉลี่ยได้เกือบ 0.338 นิ้ว และเท่าที่รวบรวมกระสุนมายี่ห้อละ 20 นัด ก็พบว่าไม่มีกระสุนนัดใดเลยที่โตเกินกว่า 0.338 นิ้ว ดังนั้น ถ้าเราทำคอรังเพลิงให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.338 นิ้วก็น่าจะเพียงพอแล้ว

เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้หัวกระสุนอยู่ในแนวเดียวกับแกนลำกล้องก็คือ การให้หัวกระสุนมาชนกับจุดเริ่มต้นของเกลียวลำกล้อง ท่านผู้อ่านอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า ปืนลูกกรดยาวลูกเลื่อนหลายๆแบบอย่างเช่น อันชูตส์ เวลาที่เราป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงไป แล้วไม่ได้ยิง เมื่อดึงออกมาจะมีรอยสันเกลียวลำกล้องกัดลึกเข้าไปอยู่ที่ด้านข้างหัวกระสุน ซึ่งอันนี้ก็เป็นการทำให้หัวกระสุนอยู่ในแนวแกนของลำกล้องปืนนั่นเอง

โครงปืนของเคลบลีเป็นแบบท้องเรียบไม่มีรีคอยล์ลักก์ ยึดอยู่ด้วยการแนบติดกันสนิท โดยไม่มีช่องว่างเพื่อให้ส่งถ่ายแรงรีคอยล์ไปสู่สต๊อกได้อย่างเต็มที่ การเชื่อมต่อในลักษณะนี้ต้องระมัดระวังอย่าให้สกรูคลายตัวออกมาได้ เพราะจะกลายเป็นว่าสกรูทั้ง 3 ตัวมารับแรงแทนรีคอยล์จะกระชากสกรูจนเกลียวตัวเมีย ที่โครงปืนรูดเสียหายหมด

ในกรณีของกระสุนไรเฟิลจะออกแบบให้หัวกระสุนมุดเข้าไปแบบกระสุนลูกกรดไม่ได้ เนื่องจากกระสุนไรเฟิลมีแจ็กเก็ตทองแดงแข็งๆหุ้มแกนตะกั่วอยู่ ถ้าขืนทำแบบปืน ลูกกรดเวลาถอนกระสุนที่ยังไม่ได้ยิงออกมาจากรังเพลิง เราอาจจะได้ออกมาเฉพาะปลอกกระสุนเปล่าๆ โดยมีดินส่งกระสุนหกเรี่ยราดทั่วไปหมด
ดังนั้น จึงทำได้แต่เพียงให้ส่วนไหล่ของหัวกระสุน (Orgive)
มาชนกับคอรังเพลิง (Throat) เท่านั้นเอง

การให้หัวกระสุนมายันกับคอรังเพลิง ทำได้สองวิธีก็คือ ให้หัวกระสุนยื่นออกไปหาคอรังเพลิง หรือไม่ก็ร่นคอรังเพลิงเข้ามาหาหัวกระสุน ซึ่งวิธีหลังนี้จะเป็นวิธีที่ปืนสไนเปอร์ต่างๆนิยมใช้กันอยู่ คือเขาจะสั่งทำรีมเมอร์คว้านรังเพลิงขึ้นมาเป็นพิเศษ ให้ส่วนคอ รังเพลิงโค้งรับกับหัวกระสุนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำให้เข้ากับ หัวกระสุนเซียร่า แมทช์คิง 168 เกรนที่ใช้กับกระสุนแมทช์ของเฟเดอรัล, เรมิงตัน และวินเชสเตอร์ รวมทั้งกระสุนแมทช์ของทหารแบบ M852 รวมทั้งจะเข้าได้กับหัวรุ่นใหม่ของเซียร่า ซึ่งอยู่ในซีรีส์แมทช์คิงเหมือนกัน แต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 175 เกรน ในปัจจุบันนี้มีใช้อยู่ในกระสุนเฟเดอรัล โกลด์เมดัล และกระสุนแมทช์รุ่นใหม่ของทหาร
แบบ M118 LR

เครื่องลั่นไกเป็นของจิวเวล ปรับน้ำหนักไกลงมาได้ถึง
1.5 ออนซ์ ไกของจิวเวล เวลาที่เราปรับผิดพลาดจะเซ็ทไกไม่ติดอย่างเดียว แต่ไม่ทำให้ปืนลั่นออกไปเองในตอนปิดลูกเลื่อน

สำหรับเคลบลีกระบอกนี้เห็นทางคนสั่งเล่าให้ฟังว่าได้ระบุให้ทางเคลบลีทำ รังเพลิงสำหรับกระสุนลาปัวของฟินแลนด์ เนื่องจากในบ้านเรากระสุนลาปัวออกจะหา ง่ายกว่ากระสุนอื่น แต่พอเห็นปืนตัวจริงแล้วคงต้องบอกตรงๆว่าจุดเด่นจะไปอยู่ที่การทำ สีพานท้ายมากกว่า เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หรือว่าสีของพานท้ายช่างสวยงามสะดุดตาจริงๆ

คงจำได้นะครับว่าเคลบลีกระบอกที่เราทดสอบคราวที่แล้วใช้สต๊อกทำด้วยกราไฟท์ไฟเบอร์ ซึ่งมีโครงสร้างแบบโมโนค็อก ไม่มีโครงโลหะภายในแต่ทำผิวด้านนอกแข็งแกร่งแบบเดียวกับก้ามปู ทั้งนี้เป็นการลดน้ำหนัก เพื่อจะได้เพิ่มเนื้อเหล็กให้กับลำกล้องมากเท่าที่จะทำได้ สำหรับสต๊อก ของเคลบลีกระบอกที่เราทดสอบในฉบับนี้ ก็ยังคงใช้สต๊อกที่มีโครงสร้างแบบเดิม แต่เป็น แบบธัมป์โฮล คือส่วนคอปืนจะหนาอวบเต็มที่ แล้วทำเป็นด้ามปืนเจาะรูให้นิ้วหัวแม่มือ สอดผ่านออกไปได้


การถอดเข็มแทงชนวนออกมา จากลูกเลื่อนทำแบบเดียวกับลูกเลื่อนของเรมิงตัน คือเกี่ยวแง่นี้รั้งดึงเข็มแทงชนวนมาข้างหลัง จนกระทั่งรอยบากโผล่ออกมาให้เห็น ระวังอย่าไปยุ่งกับบ่าอันหน้า
เพราะเป็นบ่าที่เกาะกับเซียร์

ใช้แผ่นเหล็กหรือลวดสอดเข้าไปกั้น

สต๊อกแบบธัมป์โฮลมีจุดเด่นที่คอปืนแข็งแรงและควบคุมปืนได้ดี นอกจากนั้น การที่สต๊อกแบบธัมป์โฮลทำส่วนด้ามให้ตั้งกว่าสต๊อกทั่วไป จะช่วยให้เรารู้สึกว่าปืนถีบ น้อยลงเพราะมือที่จับปืนจะช่วยยันสต๊อกเอาไว้ ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อแขนมาแบ่ง รีคอยล์ของปืนออกไปนั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่พลิกดูหน้าสีมาแล้ว คงจะเห็นความสะดุดตาของเคลบลีกระบอกนี้ แต่ที่เห็นในภาพนั่นยังไม่เท่าตัวจริงนะครับ เพราะเขาทำสีมาแบบสามมิติ
มองตรงๆ ออกเป็นสีม่วง แต่พอเอียงปืนจะเหลือบสีทอง สวยจนไม่ค่อยอยากจะเอาไปยิงเลยครับ


แล้วหมุนคลายเข็มแทงชนวนออกมาได้เลย

เรานำเคลบลีไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืน ศรภ. 17 รามอินทรา ปืนสวยขนาดนี้ ไม่อยากเอาไปสนามกลางแจ้ง เกิดฝนตกขึ้นมาจะหมดสวยเท่านั้นเอง ผมนำกระสุน ไปยิงทดสอบด้วยกัน 5 แบบคือ ลาปัว FMJ 185 เกรน, RWS แมทช์ 190 เกรน HpBt และกระสุนแมทช์ของเฟเดอรัล, เรมิงตันกับวินเชสเตอร์ซึ่งใช้หัวกระสุนเซียร่าแมทช์คิง 168 เกรน HpBt ด้วยกันทั้งสามยี่ห้อ ผลการยิงปรากฏว่าปืนกระบอกนี้ไม่ค่อยชอบ กระสุนหัวหนักซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าใช้เกลียว 1-13 ก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กระสุนลาปัว 185 เกรนกับ RWS 190 เกรนได้กลุ่มกระสุนได้ไม่ดีนัก น่าเสียดายที่เราหากระสุนลาปัว 170 เกรนหรือ 167 ได้มาเพียงไม่กี่นัด แถมยัง รื้อออกมาวัดเสียหมดแล้ว เสียดายจริงๆ ครับ เพราะว่าปืนกระบอกนี้ทำมาให้แมทช์ กับกระสุนลาปัวเสียด้วย และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือกระสุนวินเชสเตอร์กับเฟเดอรัล ทำกลุ่มกระสุนได้ดีพอๆกัน ก็แสดงว่าคุณภาพของส่วนประกอบอื่นๆตลอดจนความพิถีพิถัน ในการอัดกระสุนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความหนาของคอปลอกกระสุน

ยิงทดสอบที่สนามยิงปืน 17 รามอินทรา ระยะ 200 หลาตามมาตรฐานของปืนเบ็นช์เรสต์ ระบบนี้ผมทดลองด้วยกระสุนทุกแบบที่เตรียมไป แต่เอาเป้ามาถ่ายภาพเฉพาะที่ยิง ด้วยกระสุนเฟเดอรัลโกลด์เมดัลกับวินเชสเตอร์แมทช์
ส่วนกระสุนเรมิงตันกลุ่มใช้ได้แต่โดดสูงขึ้นไปมากกว่ายี่ห้ออื่น

ผู้ส่งทดสอบคือ ห้างฯ ม.ฮะกีมี อยู่ถนนเจริญกรุง ใกล้สี่แยกอุณากรรณ กรุงเทพฯ หรืออาจโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่หมายเลข 0-2222-7791, 0-2222-8371
โทรสาร 0-2226-5924

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 326 ธันวาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com