สปริงฟิลด์ แชมเปี้ยน
ปืน .45 ออโตฯ โครงด้ามมาตรฐาน ลำกล้องสี่นิ้วเพิ่มความคล่องตัว

สปริงฟีลด์ อาเมอรี ชี่อนี้นักนิยมปืนรุ่นเก่าสักหน่อยจะรู้จักในฐานะผู้ผลิตปืนยาวลูกเลื่อนครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนยาวประจำการ กองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (Springfield 1903) ซึ่งต่อมาแม้ว่าทางกองทัพจะเปลี่ยนไปใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติ หรือ "ปืนเล็กยาวบรรจุเอง" ปลยบ.88
(M1 Garand) แทนปืนลูกเลื่อนเมื่อเข้าสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระสุนขนาด .30 ที่ใช้ยังคงเหมือนอมตะรุ่นนี้ แต่ในช่วงหลังสงครามได้สัญญาผลิตชิ้นส่วนเพื่อซ่อมบำรุงปืนเก่า เป็นกอบเป็นกำครับ ซึ่งสปริงฟีลด์นี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มการแต่งปืน 1911 สำหรับยิงเป้าโดยเฉพาะ โดยจัดปืนพิเศษไว้ให้นักกีฬายืมยิงแข่งที่แคมป์ เปอร์รี (Camp Perry) ในนัดชิงชนะเลิศแห่งชาติประจำปี โดยปืนที่ว่านี้ ใช้ชิ้นส่วนคัดพิเศษมาประกอบให้แน่นกว่าปืนใช้งานประจำการธรรมดา ถ้านักกีฬายิงแล้วถูกใจจะซื้อติดมือกลับไปเลยก็ได้


ภาพเต็มตัวด้านซ้ายของสปริงฟีลด์ แชมเปี้ยน ลำกล้องสั้นกว่ากัฟเวอร์นเมนท์ แต่ด้ามยาวมาตรฐาน ลำเลื่อนสลักชื่อรุ่น และขนาดกระสุน

หลังจากสิทธิบัตรโคลท์หมดอายุ สปริงฟีลด์ผลิตปืนตามแบบปืนทหารขายเองบ้าง โดยเป็นรายแรกที่ใช้รหัส 1911A1 มาตั้งเป็นชื่อรุ่นปืนโดยตรง คือแม้ว่าสิทธิบัตรผลิตหมดอายุ แต่ชื่อรุ่นเช่น "กัฟเวอร์นเมนท์" นี่เป็นชื่อที่จดทะเบียนการค้าไว้ไม่ได้หมดตามไปด้วยนะครับ ทำปืนหน้าตาเหมือนกันขายได้ แต่จะใช้ชื่อของโคลท์ไม่ได้ สปริงฟีลด์ใช้วิธีสั่งชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตต่างๆ มีอิมเบลจากบราซิล เป็นต้น มาประกอบในสหรัฐฯ ก็ประสพความสำเร็จพอสมควร กำลังจะรุ่งก็ให้ เสียจังหวะเพราะเกิดคู่แข่งสำคัญสองราย คือ คิมเบอร์ กับ เลส เบเออร์ กระหนาบตลาดล่างตลาดบน คือการวางตัวกำหนดราคาของสปริงฟิลด์อยู่ตรงกลางระหว่างคิมเบอร์ (ราคากันเอง ขายจำนวนมาก) กับ เบเออร์ (ของดีต้องแพง) ครับ รุ่นถูกหน่อยของสปริงฟิลด์ต้องชนกับคิมเบอร์
ส่วนรุ่นแพงก็มีเบเออร์ประกบ โดยคู่แข่งทั้งสองรายนี้ต่างก็ใช้กลยุทธ์ผลิตชิ้นส่วนเองเป็นหลัก ต่างจากสปริงฟีลด์ที่เลือกทางสั่งซื้อชิ้นส่วนมาประกอบ


ปุ่มปลดซองกระสุน

แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียนะครับ แบบที่ผลิตเองหมดช่วยให้ควบคุมกระบวนการต่างๆ ได้ทั่วถึงดี แต่ถ้าผลิตไม่มากราคาก็จะแพงเกินเหตุ ส่วนแบบที่ทำชิ้นส่วนจากภายนอก อาจจะมีปัญหาเรื่องของมาช้ากว่ากำหนดบ้าง ผิดสเป็กบ้าง ทำให้การจัดการยุ่งยากกว่า
แต่การลงทุนเครื่องจักรจะต่ำกว่าช่วยลดต้นทุนได้เมื่อไม่ต้องการผลิตมากนัก และถ้าคู่ค้าคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรักษาคุณภาพได้ดีก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้ในระดับราคาที่ไม่แพงเกินไป ในยุคที่ช่างแต่งปืน 1911 ยังหากินกับปืนยิงเป้าวงดำเป็นหลักนั้น โครงปืน และลำเลื่อนของสปริงฟีลด์ได้รับการยอมรับในวงการว่าเหล็กดี ทนทาน ส่วนรางปืนหนา แข็งแรง มีเนื้อโลหะเหลือเฟือที่จะค่อยๆ แต่งให้เข้ากันสนิทเพื่อความแม่นยำสูงสุดได้


ปลดซองกระสุน ตรวจรังเพลิง เริ่มถอดโดยเลื่อน ลำเลื่อนให้ช่องปลดตรงกับปลายคันค้างลำเลื่อน

กดปลายแกนคันค้างจากด้านขวา

ปืนของสปริงฟีลด์ที่ออกขายตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 มีทั้งแบบใช้งานธรรมดา ในชื่อ 1911A1 ดังกล่าวแล้ว ไปจนถึง "บูลส์อาย แว็ดคัทเตอร์" รุ่นยิงเป้าติดศูนย์แบบสันสะพานตลอดหลัง และปืน แข่งรณยุทธ์หลายรูปแบบ สำหรับรุ่น "แชมเปี้ยน" อย่างที่ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล ให้มาทดสอบเดือนนี้ เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1989 โดยเป็นเหล็กรมดำธรรมดา เพิ่งมาออกรุ่น เหล็กขาวสเตนเลสส์ไม่กี่ปีนี้เอง

ถอดคันค้างลำเลื่อน ดันลำเลื่อนเดินหน้าจนพ้นโครงปืน

จุดเด่นของสปริงฟีลด์ แชมเปี้ยน คือ โครงด้ามยาวมาตรฐาน ใช้ซองกระสุน 7 หรือ 8 นัดได้ แต่ลำกล้องสั้นเพียง 4 นิ้วครับ ท่านที่เป็นแฟนปืนตระกูลนี้ย่อมทราบดีว่า โคลท์ทำออกมาสามความยาวลำกล้อง คือ 5 นิ้ว (กัฟเวอร์นเมนท์) 4.25 นิ้ว (คอมมานเดอร์)
และ 3.5 นิ้ว (ออฟฟิเซอร์) ลำกล้องของแชมเปี้ยนสั้นกว่าคอมมานเดอร์ อยู่เศษหนึ่งส่วนสี่นิ้ว และเนื่องจากมุ่งให้เป็นปืนพกพา สปริงฟีลด์แชมเปี้ยนจึงใช้ศูนย์คอมแบ็ททรงเตี้ยเป็นเหล็กรมดำแต้มจุดขาวสามจุดช่วยให้เล็งง่าย ศูนย์หน้าหลังติดตั้งโดยสอดหางเหยี่ยวขวางลำเลื่อน สามารถถอดเปลี่ยนได้สะดวก และศูนย์หลังเมื่อคลายสกรูล็อกแล้วสามารถเคาะเลื่อนปรับซ้าย-ขวาได้ สันลำเลื่อนโค้งเต็มสภาพเดิม


ถอดสปริงออกจากใต้ลำกล้อง

บูชแบบกลับหลัง ถอดเข้าด้านใน

ชิ้นส่วน "คัสตอม" ที่ติดตั้งมาพร้อมสำหรับปืนรุ่นนี้ คือ ห้ามไกกว้าง ช่วยรองหัวแม่มือ (ยิงด้วยมือขวา) หลังอ่อนสันหนา หางยาวสำหรับจับสูง มีหลุมหุ้มหางนกกันหนีบง่ามมือ ไกโปร่งพร้อมหมุดหยุดไก นกโปร่ง ประกับไม้แกะลายข้าวหลามทั่วผิว และใหม่ล่าสุดจากการบังคับของกฎหมายสหรัฐฯ คือระบบล็อกปืนเพื่อเก็บ ป้องกันอุบัติเหตุเมื่อทิ้งปืนไว้กับบ้านโดยเด็กอาจมาหยิบเล่นได้ การทำงานใช้กุญแจพิเศษพลิกสลักที่เรือนสปริงนกสับ เมื่อล็อกสปริงตัวนี้ แล้วปืนจะอยู่ในสภาพเหมือนเหล็กท่อนหนึ่ง ง้างนกไม่ได้ ถอดลำเลื่อนไม่ได้ เหลือที่ทำงาน ได้เพียงอย่างเดียวคือปลดซองกระสุนครับ

พับห่วงโตงเตงแล้วเลื่อนลำกล้องออกทางด้านหน้า

ตรวจดูความฟิตแน่นของลำเลื่อน ไม่แน่นปั๋งเหมือนรุ่นยิงเป้าครับ ซึ่งเหมาะแล้ว สำหรับปืนใช้งานที่เน้นการทำงานเรียบร้อยก่อนกลุ่มกระสุน
ฝีมือผลิต การแต่งผิวโลหะเรียบร้อยทุกจุด ผิวแบนด้านข้างขัดเงา ตัดกับผิวโค้งที่พ่นทรายด้าน
น้ำหนักไกวัดได้ 5 ปอนด์ ไม่ถึงกับหนักครับ
หลุดคมดี น้ำหนักตัวพร้อมซองกระสุนเบากว่ารุ่นมาตรฐาน เพียงเล็กน้อย

การยิงทดสอบด้วยกระสุนหัวตะกั่ว (ลูกซ้อม) บุลเล็ทมาสเตอร์ น้ำหนักหัว 200 เกรน และความเร็วต่ำเพียง 750 ฟุต/วินาที นิ่มนวลดีมาก เปลี่ยนเป็นกระสุนเฟเดอรัล ความเร็วสูงขึ้นอีก 200 ฟุต/วินาที การทำงานยังเรียบร้อยทุกประการ การที่ด้ามยาว จับเต็มมือดีช่วยให้คุมปืนง่าย กลุ่มกระสุนอยู่ในระดับ 3 นิ้วเศษเมื่อยืนยิงจากระยะ 15 เมตร ถ้าถอยไป 25 เมตร
พาดยิง ก็น่าจะใกล้เคียงกันนี้ครับ ปลอกกระสุนสลัดออกขวาเป็นปกติดี ศูนย์กินซ้ายเล็กน้อย


ชิ้นส่วนเมื่อถอดทำความสะอาดตามปกติ

ถอดเพื่อทำความสะอาด เริ่มจากปลดซองกระสุน ดึงลำเลื่อนตรวจรังเพลิงให้ปลอดภัยแล้ว เริ่มจากขยับลำเลื่อนให้ช่องถอดตรงตำแหน่ง กดปลายแกนคันค้างลำเลื่อนจากขวามาซ้าย ถอดคันค้าง เลื่อนชุดลำเลื่อนพร้อมลำกล้องออกด้านหน้า ระวังสปริงใต้ลำเลื่อนไว้บ้างครับ อาจจะดีดดิ้นหลุดออกมาได้ เมื่อลำเลื่อนและลำกล้องพ้นโครงแล้ว พลิกหงายเอาสปริงออก จากนั้นขยับลำกล้องให้ส่วนปลายที่อ้วนๆ พ้นจากบูชครอบสปริง ถอดบูชออกด้านใน เป็นบูชแบบกลับหลังครับ ไม่ครอบลำกล้องด้านบน เอาบูชออกแล้วพับหูโตงเตงเลื่อนลำกล้องออกด้านหน้า ประกอบกลับก็ย้อนกับวิธีถอด สปริงฟีลด์รุ่นนี้ การทำงานเหมือน 1911 เดิมๆ ไม่มีสมอกั้นเข็มฯ และมีข้อสังเกตว่าตำแหน่งร่องรับนกตกนั้น นกลดไปเกือบชิดโครงปืนครับ

ข้อดีของด้ามยาว ปืนคุมง่ายกว่าด้ามสั้นและเป้าที่ยิงด้วยกระสุนบุลเล็ทฯ

สรุปสำหรับ สปริงฟีลด์ แชมเปี้ยน เป็นปืนสั้นใช้งานระดับหนักหน่วง โครงและด้ามเท่า 11 มม. มาตรฐาน จุกระสุนเท่ากัน แต่ลำกล้องสั้นกว่าเพิ่มความคล่องตัว และทำให้พกซองสะดวกขึ้นบ้าง ท่านที่เคยพกปืนแล้วมีปัญหาเวลานั่งปลายลำกล้องค้ำเก้าอี้คงเข้าใจนะครับ ลำกล้องที่สั้นลง 1 นิ้ว ให้ความเร็วต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ประมาณ 5% ครับ สำหรับปืนหัวกระสุนใหญ่ๆ หนักๆ อย่าง .45 ออโตฯ ความเร็วลดไปขนาดนี้ถือได้ว่าไม่มีผลครับ ท่านที่สนใจดูตัวจริงได้ที่ ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล อยู่ดิโอลด์สยาม แถวในครับ จากหลังศาลาเฉลิมกรุง ขึ้นบันไดมาเลี้ยวซ้ายร้านแรก

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 325 พฤศจิกายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com