ปืนสไตเออร์ SSG P-IV .308
ไรเฟิลสไนเปอร์สำหรับกิจการพิเศษ

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อวป. ได้รายงานผลการทดสอบปืนไรเฟิลสไตเออร์ SSG P-ll K ลำกล้อง 20 นิ้ว จำได้ว่าในฉบับนั้นผมได้เล่าถึงปืนไรเฟิลสไตเออร์ SSG ว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 รุ่น คือรุ่นมาตรฐานที่โรงงานเรียกว่า SSG-P1 หรือชื่อเดิมคือ SSG-69 ลำกล้อง 25.5 นิ้ว ลำกล้องอวบพอสมควร ติดศูนย์เปิดรุ่นต่อมาเป็น P2 ซึ่งเป็น SSG ที่ลำกล้องหนาขึ้น และไม่ติดศูนย์สำหรับรุ่นที่สามก็คือ SSG P-ll K ลำกล้อง 20 นิ้ว ซึ่งเป็นปืนที่ทดสอบไปในฉบับที่ 318 นี้เอง เป็น SSG ที่ลำกล้องหนาเหมือน P2 แต่ลำกล้องสั้นเพียง 20 นิ้ว สำหรับรหัสรุ่น SSG P-ll K หมายถึง P-ll แบบลำกล้องสั้น เพราะ K มาจากคำว่า Kurz ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่าสั้น แล้วยังได้พูดเลยไปถึงปืนสไตเออร์ในรุ่น SSG P-lV ว่าเป็น SSG ลำกล้องสั้นเพียง 16 นิ้ว ออกแบบมาสำหรับเป็นปืนสไนเปอร์เก็บเสียง โดยถ้าใส่ท่อเก็บเสียงมาให้สำหรับเป็นอาวุธของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจะเรียกว่า SSG-SD แต่ถ้าใส่ปลอกลดแสงมาขายในตลาดปืนพาณิชย์จะเรียกว่า SSG P-lV ห้างฯ ปืนเพ็ญจันทร์ได้สั่งปืนสไตเออร์ SSG แบบ P2 กับ P2-K เข้ามา 2 รุ่นแล้ว ตอนนี้ก็เลยสั่งปืนในรุ่น P4 เข้ามาเพิ่มเติม ให้ครบทุกรุ่น ได้ข่าวว่ากว่าจะออกปืนรุ่นนี้ออกมาจากศุลกากรได้ ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลกันอยู่นาน ขนาดนายห้างฯต้องลงทุนไปพบเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่คลังสินค้าดอนเมืองด้วยตนเอง ถือ อวป. 3 ฉบับที่แล้วที่มีบทความเกี่ยวกับปืนเก็บเสียงไปเปิดให้ดูว่า เครื่องลดเสียงปืนมีโครงสร้างและหลักการทำงานอย่างไรบ้าง ต่างกับปลอกลดแสงที่ติดมากับปืนอย่างไร แต่อย่างนั้นก็ยังโดนรื้อปืนออกมาตรวจดูว่ามีการแอบสอดไส้ท่อเก็บเสียงมาด้วยหรือเปล่า

ภาพเต็มของสไตเออร์ SSG P-lV

ปืนสไนเปอร์เก็บเสียงเป็นอาวุธสำหรับใช้ในงานต่อต้านการก่อการร้าย เนื่องจากคนร้ายประเภทนี้ไม่ใช่ทรชนคนชั่ว หรือโจรผู้ร้ายประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้นธรรมดา หากแต่เป็นทหารรับจ้างหรือไม่ก็เป็น ผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกหัดศึกษามาอย่างดี รู้จักยุทธวิธีในการตั้งรับ สามารถดัดแปลง ภูมิประเทศหรืออาคารสถานที่เพื่อให้ต้านทานจากการจู่โจมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดังนั้น การปราบปรามจึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ซึ่งฝึกมาเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องใช้อาวุธที่มองดู น่ากลัวกว่าอาวุธในระดับชั้นสำหรับการป้องกันตัวเองของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เห็นกัน อยู่ทั่วไป กระสุนสำหรับปืนสไนเปอร์เก็บเสียง มักจะเป็นกระสุนซับโซนิค คือต้องมีความเร็ว ต่ำกว่า 1,100 ฟุต/วินาที อันนี้ไม่เกี่ยวกับ ความแข็งแรงของปืนเพราะปืนเหล่านี้ก็คือ ไรเฟิลในขนาด .308 อยู่แล้ว ย่อมจะต้องรองรับกระสุน .308 ได้ทุกชนิดที่มีขายในท้องตลาด แต่ปัญหาจะไปอยู่ที่กระสุนซูเปอร์โซนิคจะมีเสียงที่เกิดขึ้นจากหัวกระสุนวิ่งแหวกอากาศ ดังนั้น ต่อให้เราสามารถเก็บเสียงระเบิดจากดินส่งกระสุนได้ 100% ก็ยังคงมีเสียงแหวกอากาศของหัวกระสุนอยู่ดี ถ้าติดตามเรื่องราวปืนเก็บเสียงใน อวป. สองสามฉบับที่ผ่านมาคงจะจำได้ว่าหัวกระสุน .308 ที่ความเร็ว 900 ฟุต/วินาทีจะทำเสียง ดัง 87 เดซิเบล และเมื่อผ่านกำแพงเสียง หรือทรานโซนิคจะดัง 138 เดซิเบล คงที่อยู่ ขนาดนั้นไปจนถึงความเร็ว 3 เท่าของเสียง เสียงดัง 138 เดซิเบลไม่ใช่ธรรมดา เพราะดังพอๆกับปืนลูกกรดยาวที่ยิงกระสุน หัวแดงความเร็วสูง ดังนั้น หากเราสามารถเก็บเสียงระเบิดจากก๊าซได้ แต่ยังมีเสียงดังของหัวกระสุนก็ต้องถือว่ากระทบต่อภารกิจอยู่ดี จึงต้องหากระสุนแบบซับโซนิคมาใช้กับปืนสไนเปอร์เก็บเสียงถึงจะเป็นระบบอาวุธที่สมบูรณ์ แต่สำหรับร้านค้าที่สั่งกระสุนมาเพื่อการกีฬาหรือการป้องกันตัวแล้วก็สมควร จะทราบไว้ว่ากระสุนไรเฟิลซับโซนิคซึ่งถึงแม้จะเป็นกระสุนที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอาวุธปืนของไทยเราก็ตาม แต่ก็เป็นกระสุนที่ผลิตขึ้นมาสำหรับงานลอบสังหารที่ใช้ในภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้น ไม่ใช่กระสุนปืนกีฬาหรือกระสุนสำหรับการป้องกันตัวใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ที่มีการผลิตกระสุนลูกกรดซับโซนิคขายกันอยู่ทั่วไป ก็เพราะว่าหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเขาอนุญาตให้ใช้ท่อเก็บเสียงได้ เพื่อป้องกันเสียงรบกวนหรือมลพิษทางเสียงต่อเพื่อนบ้าน คล้ายๆกับที่เรือนจำบางขวางของเราเอาปืนกลมือเก็บเสียง MP-5 SD มาใช้ประหารชีวิตนักโทษอะไรทำนองนั้น ส่วนกระสุน 9 มม. แบบซับโซนิคนั้นคงจะเป็นเรื่องหวังผลเกี่ยวกับความแม่นยำเสียมากกว่า เพราะกระสุน 9 มม. เป็นกระสุนที่มีความเร็วเหนือเสียงไม่มากนัก วิ่งออกไปแค่ 20-30 เมตรความเร็วก็ลดต่ำลง จนผ่านกำแพงเสียง (ขาลง) ช่วงนี้อากาศรอบๆหัวกระสุนจะปั่นป่วน (Turbulence) ขนาดหนักจนทำให้กระสุนเสียการทรงตัว ขาดความแม่นยำ ดังนั้น จึงใช้หัวกระสุนหนักๆ ที่ความเร็วต่ำกว่าเสียงให้หมดเรื่องหมดราวไป อย่างที่คุยกันแล้วว่ากระสุนซับโซนิค จะต้องมีความเร็วต่ำกว่าเสียง แต่อำนาจสังหารนั้นมาจากพลังงานของหัวกระสุน ซึ่งเกิดจากความเร็วกระสุนคูณกับมวลของ หัวกระสุน ดังนั้น เมื่อความเร็วถูกจำกัดไว้ ที่ไม่เกิน 1,100 ฟุต/วินาที จึงต้องเพิ่มมวล ของหัวกระสุนให้มีน้ำหนักมากขึ้นเท่าที่ปืนและกระสุนจะรองรับได้ ฝั่งรัสเซียเล่นกับกระสุนซับโซนิคได้ง่ายกว่าฝ่ายตะวันตก เพราะมีกระสุนปืนอาก้าหรือ AK-47 (7.62x39 มม.) ที่ของเดิมใช้หัวกระสุน 123 เกรน วิ่ง 2,815 ฟุต/วินาที ปลอกอาก้าเล็กอยู่แล้ว การทำเป็นแบบซับโซนิคทำได้ง่ายๆ เพียงเพิ่มน้ำหนักหัวเป็น 193 เกรนแล้วกดลงไปในปลอกลึกอีกหน่อย ก็จะเหลือเนื้อที่ในปลอกพอดีกับปริมาณดินส่งกระสุนที่จะทำความเร็วแบบซับโซนิคได้ ส่วน .308 ปลอกค่อนข้างโตทำให้อัดลูกซับโซนิคยากสักหน่อย เพราะเหลือที่ว่างในปลอกมากอาจจะเกิดอันตรายจากการที่ดินส่งกระสุนปะทุขึ้นพร้อมๆกันทำให้มีแรงอัดสูงเกินไปได้ ต้องคัดเลือกดินส่ง กระสุนเป็นพิเศษสำหรับการนี้ ที่จริงโรงงานต่างๆก็มีการผลิตกระสุนซับโซนิคส่งให้กับกองทัพอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยจะยอมเปิดเผยรายละเอียดกัน มีเพียงแต่ลาปัว ที่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระสุนซับโซนิค ขนาด .308 ไว้ในแคตตาล็อกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 เป็นต้นมาว่าใช้หัวกระสุนแบบ B416 FMJ-BT หนัก 200 เกรน ทำความเร็วต้นได้ 1,066 ฟุต/วินาที เมื่อยิงจากลำกล้องยาว 450 มม. (17.7 นิ้ว) แต่ช่องที่ระบุว่าใช้ดินส่งกระสุนเบอร์อะไร หนักเท่าไหร่ อ่านดูในตารางไล่ลงมาจากลูก .308 หัว 150 เกรน ใช้ดิน Vithavuori เบอร์ N140 หนัก 3.0 กรัม, หัว 167 เกรนใช้ N150 3.0 กรัม แล้ว 185 เกรนก็ยังใช้ N150 แต่ลด ลงมาเหลือ 2.8 กรัม แต่พอถึงลูกซับโซนิค ลาปัวกลับไม่ยอมเปิดเผยเสียเฉยๆ ทีนี้พอเราเพิ่มน้ำหนัก หัวกระสุนก็ต้องยาวขึ้นด้วยเพราะยังไงๆมันก็ต้องโต 0.308 นิ้วเท่าเดิม ไปเพิ่มน้ำหนักก็คงยืดออก มาทางความยาวได้สถานเดียว หัวกระสุนยาวขึ้นหรือโตขึ้นย่อมต้องการเกลียวเร็วขึ้นเหมือนลูกข่างไงครับ ถ้าเอาจับวางเฉยๆมันจะล้ม แต่ถ้าเราปั่นให้ลูกข่างหมุนตัวจนถึงความเร็วรอบขนาดหนึ่งมันก็จะทรงตัวตั้งตรงอยู่ได้ แต่ถ้าลูกข่างโตขึ้นหรือมีความยาวมากขึ้น (สูงขึ้น) ก็ยิ่งต้องหมุนเร็วขึ้นถึงจะทรงตัวอยู่ได้

ยิงทดสอบที่สนามยิงปืนค่ายนวมินทร์ฯ จังหวัดชลบุรี อากาศดีจริงๆครับ กทม. กำลังฝนตกจนผมเริ่มปวดไซนัส นึกว่าโพรงจมูกจะอักเสบเสียแล้ว มาได้อากาศเชิงเขาแค่วันเดียวหายสนิท ใช้กระสุนลาปัว 185 เกรน เพราะเป็น กระสุนที่หนักที่สุด หัวยาวที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ปรับศูนย์แล้วจึงยิงดูกลุ่มกระสุน 3 นัด ระยะ 100 เมตร เป้าของผู้เขียนที่ยิงไปแล้ว 3 นัด กลุ่มกระสุนยังสู้ SSG P ll-K ไม่ได้เพราะลำกล้อง สั้นกว่ากันถึง 4 นิ้ว แต่กลุ่มกระสุนที่ได้ก็ถือ ได้ว่าเหนือปืนไรเฟิลแบบมาตรฐานลำกล้อง 22-24 นิ้วของอเมริกา

ดังนั้น ปืนสไนเปอร์ซึ่งใช้กระสุนซับโซนิคจึงต้องทำเกลียวให้เร็วขึ้น อย่างเช่น สไตเออร์ SSG รุ่นมาตรฐานตั้งแต่ P1, P2, P3 จนถึง P2-K จะใช้เกลียว 1-12 เป็น มาตรฐาน แต่พอถึง P4 กระบอกนี้สไตเออร์ จึงได้เร่งอัตราเวียนของเกลียวลำกล้องหรือ Gain Twist ขึ้นมาเป็น 1-10 ถ้าเราจะเอาสูตรของ ศจ.กรีนฮิลล์ (Sir Alfred George Greenhill) ที่ให้หาอัตราเกลียวว่าเท่ากับ 150x เส้นผ่าศูนย์กลางหัวกระสุน/(ความยาวหัว กระสุน/เส้นผ่าศูนย์กลาง) จะพบว่าปืน กระบอกนี้จะเหมาะกับความยาวหัวกระสุน เท่ากับ 1.423 นิ้ว (150x0.308/(1.423/0.308) = 10 สูตรนี้เหมาะสำหรับกระสุน วิ่งเร็ว 2,000 ฟุต/วินาที ถ้าเร็วกว่านี้ก็ใช้ เกลียวช้าลงได้เพราะความเร็วที่เพิ่มขึ้นจะทำให้หัวกระสุนหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นเป็นการชดเชยกันเองในตัว แหวนรัดกล้องที่มากับ SSG กระบอกนี้เป็นขนาด 30 มม. พอดีเราไม่มีกล้องขนาด 30 มม. เตรียมเอาไว้ด้วย จึงได้ติดต่อขอยืมกล้องบอชแอนด์ลอมบ์ รุ่น Elite 3000 1.5-6x42 มม. จาก ม.ฮะกีมี มาทำการทดสอบร่วมกับปืนกระบอกนี้ กล้อง B&L ตัวนี้ไม่อยู่ในแคตตาล็อกฉบับภาษาอังกฤษของบุชแนล เนื่องจากเป็นกล้องรุ่นพิเศษสำหรับส่งไปขายในยุโรปโดยเฉพาะ ทำให้บุชแนลเลือกใช้เลนส์คุณภาพดีมาก เพราะต้องแข่งขันกับกล้องชั้นดีของยุโรปเองอย่างเช่น ไซส์, เฮนโซลท์ หรือสวารอฟสกี้ ซึ่งจะใช้ราคาเป็นจุดขายอย่างเดียวไม่พอ คุณภาพต้องใกล้เคียงกันอีกด้วย กล้อง B&L Elite 3000 1.5-6x42 มม. ตัวนี้ใช้เส้นเล็ง "แบบเยอรมัน" คือ เป็นเส้นกากบาทบาง และมีเส้นหนามาก เพียง 3 เส้น เส้นข้าง 2 เส้นปลายตัด ส่วนเส้นล่างปลายแหลม เส้นเล็งแบบนี้ เหมาะสำหรับการใช้งานในเวลาแสงน้อย หรือเวลาเป้าหมายอยู่ในพุ่มไม้ มีกิ่งไม้บดบัง เส้นเล็งกากบาทเส้นเล็กจนแยกไม่ถูกว่าอันไหน กิ่งไม้ อันไหนเป็นเส้นเล็ง ก็ใช้วิธีวางเป้าหมายไว้บนเส้นเล็งหนาปลายแหลมแทน นอกจากนั้นแล้วยังใช้ยอดแหลมนี้เล็งชดเชยวิถีกระสุน เมื่อต้องยิงเป้าหมายที่อยู่เกินระยะที่ตั้งศูนย์ไว้อีกด้วย และที่ถูกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือกล้องตัวนี้น่าจะเป็นกล้อง 30 มม. ที่ราคาถูกที่สุด เพราะเห็นคุณมนัสตั้งราคาไว้ไม่ถึงหมื่น

เอาแผ่นกระจกรถยนต์ มาวางไว้ หน้าเป้าทำมุมเฉียงหนึ่งในสาม กระสุนจะกระทบ กระจกด้วยมุม 60 องศา ตั้งกระจกเสร็จแล้ว ก็เดินกลับมายิงที่เดิม

อวป. นำสไตเออร์ SSG มายิงทดสอบที่สนามยิงปืนค่ายนวมินทร์ฯ ชลบุรี ปรากฏว่าเราหากระสุนหัวหนักที่สุดได้เพียง 185 เกรน เป็นกระสุนของลาปัวแบบ FMJ-BT ที่ลาปัวระบุว่าใช้หัวกระสุนแบบ D46 กระสุนแบบนี้เราเคยใช้ในการยิงทดสอบปืน สไนเปอร์มาหลายแบบแล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ครับ กระสุนลาปัวทำกลุ่มกระสุนได้ไม่ถึง 1 นิ้ว ซึ่งจัดว่าน่าพึงพอใจทีเดียวสำหรับ ปืนลำกล้องสั้นเพียง 16 นิ้ว พอดีผมเคยพูดคุยในเว็บบอร์ด เกี่ยวกับการยิงปืนผ่านกระจกว่าวิถีกระสุน มีโอกาสที่จะเบี่ยงเบนไปอย่างไรหรือไม่ ซึ่งก็มีท่านผู้อ่านแสดงความเห็นเข้ามาอย่างกว้างขวาง อันนี้จะขอชี้แจงว่าตามปกติแล้ว ในเวลาที่สไนเปอร์จำเป็นจะต้องยิงเป้าหมายผ่านกระจก ถ้ามีโอกาสจะทำได้เขาจะวางสไนเปอร์เอาไว้อย่างน้อย 2 คนอยู่ข้างๆกัน และยิงออกไปพร้อมกัน ซึ่งยังไงๆถึงจะเป็น เพื่อนซี้กันขนาดไหนก็ยิงได้ไม่พร้อมกันอยู่ดี กะว่ากระสุนของสไนเปอร์คนแรกจะช่วยเจาะกระจกเบิกทางเข้าไปก่อน แล้วกระสุนนัดนั้น อาจจะเบี่ยงเบนหรือเสียพลังงานไปบ้าง รวมทั้งอาจจะเสียรูปบี้แบนจนกระทั่งเจาะเสื้อเกราะไม่ผ่าน กระสุนนัดที่วิ่งตามมาติดๆ ก็จะช่วยจัดการกับเป้าหมายให้เอง

เล็งผ่านกระจกไปตรงกลางเป้าพอดิบพอดี ไม่มีการเผื่อชดเชยแสงหักเหใดๆทั้งสิ้น ที่ตั้งกระจกให้เยื้องไปทางด้านขวาก็เผื่อว่ากระจกจะแตกเป็นรูเล็กๆ แบบที่เห็นในหนังจะได้ลองอีกสัก นัดหนึ่งเพราะเตรียมปืนสั้น .45 ไปอีกกระบอกหนึ่งจะได้ลองดูกับกระสุนหน้าตัดใหญ่ความเร็วต่ำๆ ดูบ้าง ที่ไหนได้กระจกกลับแตกละเอียดไปหมดทั้งแผ่น ที่ยังทรงรูปอยู่ได้ก็เพราะติดฟิล์มกรองแสง เท่านั้นเอง

ในการทดสอบวันนั้นเราจึงเตรียม กระจกรถยนต์มาด้วย เป็นกระจกกั้นระหว่างห้องโดยสารกับกระบะบรรทุกของรถปิคอัพ และเป็นกระจกใหม่เอี่ยมติดฟิล์มกรองแสง 40% ถูกต้องตามกฎหมายที่เขากำลังจะยกเลิกกฎกระทรวงไปในอีกไม่กี่วันนี้ แต่พอดี เอารถคันนี้ไปใส่หลังคาไฟเบอร์ ทางร้านแถมกระจกแบบเปิดปิดได้ ก็เลยมีกระจกมาทดลองยิงให้ดู ผมตั้งเป้าที่ระยะ 100 เมตร ยิงปรับศูนย์แล้วก็เปลี่ยนเป้ายิงดูกลุ่มกระสุน 3 นัด ปรากฏว่าเข้า X ทั้งหมดแต่ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่เพราะไปวนๆอยู่ขอบ X เสีย 2 นัด จากนั้นก็เดินเข้าไปที่หน้าเป้า ตั้งแผ่นกระจกบังเป้าเอาไว้ให้ห่างจากเป้าประมาณ 70 ซม. เอียงกระจกประมาณ 1/3 คือกะให้วิถีกระสุนกระทบกระจกเป็นมุม 60 องศา แต่ไม่มีการแตะต้องเป้าที่ยิงแล้วนะครับ เข้าไปวางกระจกบังเป้าอย่างเดียว เสร็จแล้วก็กลับมานั่งยิงที่โต๊ะเดิม หยิบกระสุนจากกล่องเดิมยิงต่อไปอีก 1 นัด ผมทราบว่าแสงหรือภาพเป้าที่ผ่านกระจก มาที่ตาจะต้องมีการหักเหอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ สนใจที่จะเล็งชดเชยใดๆทั้งสิ้น มองเห็นเป้าอย่างไรก็วางเส้นเล็งลงไปกลางเป้าเหมือนกับที่ยิงออกไป 3 นัดแรก พอลั่นกระสุนออกไป ก็ได้ยินเสียงกระสุนกระทบเป้า "เพี๊ยะ" ดังกว่าเดิม ตามด้วยเสียงพรึบคล้ายๆเสียง สะบัดผ้าพร้อมๆกับกระจกแตกเป็นฝ้าไปหมดทั้งแผ่น จนกระทั่งมองผ่านกล้องไม่เห็นว่ากระสุนกระทบเป้าตรงไหน พอเดินเข้าไปดูเป้าก็พบว่ากระสุนนัดที่ยิงทะลุผ่านกระจกนั้น เจาะเป้าเข้าไปแทบจะกลางวง X แต่เป็นรูใหญ่กว่ารอยกระสุนของเดิมมาก อย่างกับยิงด้วยกระสุน .45 หัวตัดแบบยิงเป้า เข้าใจว่าคงเป็นเพราะหัวกระสุนบี้แบนเข้ามาตอนกระทบกระจก เอาไว้เล่มหน้าจะทดลองกับกระสุนปืนสั้นขนาดต่างๆดูบ้าง

กระสุนนัดที่สี่ที่เจาะผ่านกระจกไปเจาะเป้าที่กลางกลุ่มกระสุน 3 นัดเดิมพอดิบพอดี สรุปได้ว่ากระสุนไรเฟิล .308 แบบหัวแหลม FMJ ความเร็วต่ำกว่า 2,000 ฟุต/วินาที เจาะผ่านกระจกรถยนต์ไปโดยไม่มีการเบี่ยงเบน แม้หัวกระสุนจะยุบตัวจนเจาะเป้าเป็นรูโตเบ้อเริ่มก็ตาม

ผู้ส่งทดสอบคือ ห้างฯ ปืนเพ็ญจันทร์ อยู่ที่ถนนเจริญกรุง มุมซอยข้างศาลาเฉลิมกรุง ตรงทางเข้าด้านข้างของที่จอดรถทางด้านข้างของดิโอลด์สยามฯ ราคาปืนตั้งไว้เก้าหมื่นกลางๆ หรืออาจจะโทรไปสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2222-9524, 0-2222-0430.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 322 สิงหาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com