วินเชสเตอร์ โมเดล 70 .458 แม็กนั่ม

ถ้าเราอ่านตารางรายละเอียดกระสุน ปืนไรเฟิลจากโรงงานผู้ผลิตกระสุนปืนทั่วๆไป เราจะพบว่ากระสุน .458 วินฯ แม็กฯ แบบหัวอ่อน 510 เกรน กับหัวแข็ง 500 เกรน จะมีความเร็วต้น 2,040 ฟุต/วินาทีเท่ากัน ซึ่งจะทำให้กระสุนหัวอ่อนมีพลังงาน 4,714 ฟุต-ปอนด์ และกระสุนหัวแข็ง 500 เกรน มีพลังงาน 4,620 ฟุต-ปอนด์ ซึ่งอาจจะดูไม่มากนักถ้าเอาไปเทียบกับ .460 เวฯ แม็กฯ หรือ .378 เวฯ แม็กฯ แต่เหตุใดจึงได้ยกย่อง ปืน .458 วินฯ แม็กฯ ว่าเป็นปืนที่เหมาะสำหรับการล่าสัตว์ใหญ่ในแอฟริกากันอยู่อีก นั่นเป็นเพราะว่าปืนไรเฟิลกับกระสุน .458 วินฯ แม็กฯ มีดีอยู่ในตัวหลายอย่างด้วยกัน อย่างเช่นเป็นกระสุนไม่ต้องการ ลำกล้องยาวมากนัก ใช้ลำกล้องยาวเพียง 22 นิ้วก็ได้ประสิทธิภาพของกระสุนอย่างเต็มที่แล้ว ในขณะที่ปืนเวเธอร์บีต้องใช้ลำกล้อง 26 นิ้วเป็นมาตรฐาน แล้วถ้าจะเอาแค่ 26 นิ้ว ลำกล้องเปลือยๆอย่างที่ว่า ก็อาจจะสู้แรงรีคอยล์ไม่ไหวอีก ต้องสั่งรุ่นที่ติดมัซเซิล-เบรกซึ่งเป็นการเพิ่มความยาวลำกล้องขึ้นไปอีก 2 นิ้ว ลำกล้องยาวขนาดนี้ถือตามรอยเข้าป่ารกๆไม่ไหวแล้ว ต้องใช้งานกันในทุ่งราบอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วปืนที่ติด มัซเซิลเบรกก็ยังเพิ่มเสียงดังขึ้นอีกร่วมเท่าตัว ตัวคนยิงไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าใดนักเพราะว่าอยู่หลังลำกล้องปืนพอดี แต่คนที่อยู่ข้างๆ หรือว่าใกล้ปากลำกล้องอย่างเช่นพรานนำทาง มีสิทธิหูพิการเอาง่ายๆ หรือว่าท่านเคยเห็นขบวนท่องซาฟารีในแอฟริกาคณะไหนที่หอบหิ้วเอาที่ครอบหูไปด้วย

วินเชสเตอร์ โมเดล 70 ซูเปอร์เอ๊กซ์เพรสส์ .458 วินฯ แม็กฯ

จุดเด่นของ .458 วินฯ แม็กฯ อีกอย่างหนึ่งก็คือกระสุนทั้งนัดมีความยาวเพียง 3.34 นิ้วเท่ากับกระสุนขนาด .30-06 สปริงฟิลด์ ซึ่งหมายความว่าโรงงานไหนที่ทำปืน .30-06 ขายอยู่แล้วก็สามารถทำปืน .458 วินฯแม็กฯได้ ต่างจาก .416 เรฯแม็กฯ และ 8 มม.เรฯแม็กฯ ที่ต้องใช้โครงปืนที่รับกระสุนขนาด .375 H&H ได้ ดังนั้น ปืนไรเฟิล .458 วินฯแม็กฯ จึงใช้โครงปืนสั้นกะทัดรัด ลดน้ำหนักของโครงปืนลงและยังทำให้บริหารลูกเลื่อนไม่ยืดยาวเกินไป ช่วยให้ ยิงซ้ำได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเวเธอร์บี เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องการผลิตกระสุนไรเฟิล แบบแม็กนั่มขึ้นเป็นรายแรกในอเมริกา ในระหว่างปี ค.ศ.1944-1945 รอย เวเธอร์บี ได้นำเสนอกระสุนแบบแม็กนั่มขึ้นมา 5 ขนาด หลังจากนั้นก็คือวินเชสเตอร์นี่ละครับที่ผลิตกระสุน .458 วินฯแม็กฯ ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1956 จึงนับได้ว่ากระสุน .458 วินฯแม็กฯ เป็นกระสุนแบบแม็กนั่มขนาดแรกที่ผลิต ออกมาจากโรงงานขนาดใหญ่ในอเมริกา ส่วนเรมิงตันนั้นจดๆจ้องๆ รออยู่อีก 6 ปีจึง ได้ผลิตกระสุน 7 มม.เรฯแม็กฯ ออกมาใน ปี ค.ศ. 1962 วินเชสเตอร์ใช้วิธีเดียวกับเวเธอร์บี คือ ใช้ปลอกกระสุน .375 H&H ของอังกฤษมาเป็นต้นแบบ แต่วินเชสเตอร์ตัดสินใจได้อย่าง ถูกต้องแม่นยำที่จะตัดปลอกกระสุนลงเหลือ เพียงสองนิ้วครึ่ง และเมื่อใส่หัวกระสุนเข้าไปแล้ว กระสุนครบนัดก็จะมีความยาว 3.34 นิ้ว เท่ากับกระสุน .30-06 พอดี ทีนี้พอทำกระสุนออกมาแล้วก็ต้องมีปืนที่ใช้ยิงเป็นของคู่กันอีกด้วย ตำนานของปืนโมเดล 70 แอฟริกันนั้นก็ผลิตขึ้นมาในปี ค.ศ. 1956 ปีเดียวกับที่วินเชสเตอร์ผลิตกระสุนขนาดนี้ออกมานั่นเอง

วินเชสเตอร์ โมเดล 70 ยุคแรก ได้ผลิตออกมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สองโดย ใช้หลักการของเมาเซอร์ เพียงแต่ดัดแปลง ระบบห้ามไกเพื่อให้สะดวกต่อการติดศูนย์กล้อง ส่วนหลักการสำคัญ 3 ประการของ เมาเซอร์คือใช้ปีกขัดกลอน 2 ปีกอยู่ที่หัวลูกเลื่อน, ขอรั้งปลอกกระสุนขนาดใหญ่ และตัวเตะปลอกกระสุนติดอยู่กับโครงปืน ซึ่งจะทำการคัดปลอกกระสุนออกไปจากตัวปืน ต่อเมื่อดึงลูกเลื่อนมาข้างหลังจนสุดทางหลักการทั้งสามอย่างนี้ยังคงอยู่กับวินเชสเตอร์ โมเดล 70 ครบถ้วน

ในปี ค.ศ.1964 วินเชสเตอร์ตัดสินใจผิดพลาดในการปรับเปลี่ยนระบบลูกเลื่อน ปืนไรเฟิลโมเดล 70 ไปตามสมัยนิยมโดยการ ใช้ขอรั้งปลอกกระสุนขนาดเล็กฝังอยู่หน้าลูกเลื่อน กับตัวเตะปลอกกระสุนเป็นเดือยสปริงฝังไว้หน้าลูกเลื่อนแบบเดียวกับปืน สมัยใหม่ทั่วไป แต่แฟนๆของวินเชสเตอร์ กลับตำหนิว่าวินเชสเตอร์จ้องแต่จะลดต้นทุน กันท่าเดียว นอกจากนั้นระบบลูกเลื่อนแบบนี้ ยังมีข้อเสียตรงที่ตัวเตะปลอกกระสุนดันจานท้ายปลอกกระสุนอยู่ตลอดเวลา เราดึงลูกเลื่อนมายังไม่ทันสุดระยะปลอกกระสุนก็ ถูกดันออกไปจากรังเพลิงเสียแล้ว ทำให้เกิดมีรายการผิดพลาดที่ลูกค้าผลักลูกเลื่อน เดินหน้าก่อนที่ลูกเลื่อนจะถอยมาอยู่ใน ตำแหน่งที่จะดันกระสุนได้ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการปิดลูกเลื่อนกลับเข้าไปทั้งๆที่รังเพลิงว่างเปล่า ระบบลูกเลื่อนที่วินเชสเตอร์นำมาใช้หลังปี ค.ศ. 1964 นั้นมีข้อดีอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือช่วยให้เราสามารถหยอดกระสุน เข้าไปในรังเพลิงแล้วปิดลูกเลื่อนตามได้ เพราะขอรั้งปลอกกระสุนจะอ้าออกมาจับจานท้ายปลอกกระสุนได้ ซึ่งเป็นการทำงาน ตามปกติวิสัยของขอรั้งฯแบบนี้อยู่แล้ว โดยไม่ทำให้มีชิ้นส่วนใดๆเกิดการชำรุดขัดข้อง ต่างจากขอรั้งระบบเมาเซอร์ที่วินเชสเตอร์ ใช้อยู่ก่อนปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นระบบขอรั้งที่ออกแบบมาให้กระสุนเลื่อนตัวเองสูงขึ้นๆ จนเข้ามาอยู่ในร่องขอรั้งฯ ดังนั้นต้องระวังไว้ เลยนะครับว่าขอรั้งระบบเมาเซอร์ขนานแท้ แบบที่ใช้อยู่ในปืนไรเฟิลของวินเชสเตอร์ รุ่นคลาสสิก, ดาโกต้า, ซีแซด และรูเกอร์ มาร์คทู เป็นระบบขอรั้งฯ ที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้อ้าหรือง้างออกมาจับจานท้ายกระสุน ดังนั้นการป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงจึงควรผ่าน ซองกระสุนของตัวปืนเท่านั้น ทีนี้เมื่อมีลูกค้าเรียกร้องกันมากเข้า วินเชสเตอร์จึงได้หันกลับมาผลิตปืนตามแบบ เดิมของตัวเองอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1972 โดยเรียกว่าเป็นปืนรุ่นคลาสสิก ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ในวงการปืนขึ้นมาอีก 2 คำก็คือ วินเชสเตอร์โมเดล 70 Pre-64 ซึ่งหมายถึง ปืนที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 1964 แล้วก็โมเดล 70 Post-64 หมายถึงปืนที่ผลิตในช่วงปี ค.ศ.1964-1971 ซึ่งใช้ระบบลูกเลื่อนแบบใช้ตัวเตะปลอกกระสุนเป็นเดือยสปริงติดอยู่ที่หน้าลูกเลื่อน

อย่างว่าละครับ ปืนวินเชสเตอร์ ขนาด .458 เกิดมาในสมัยก่อนปี ค.ศ. 1964 จึงต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ว่านี้ด้วย ดังนั้นปืนวินเชสเตอร์โมเดล 70 ในขนาด .458 วินฯแม็กฯ จึงมีอยู่ด้วยกัน 3 ช่วงอายุ หรืออาจจะเรียกในแบบภาษาต่างด้าวเอาใจ รัฐบาลชุดใหม่เสียหน่อยว่าเป็น 3 เจนเนอเรชั่น ก็คือปืน .458 ที่ผลิตยุคแรก หรือที่เรียกว่าโมเดล 70 Pre-64 ซึ่งใช้ขอรั้ง ขนาดใหญ่แบบเมาเซอร์ กับใช้ตัวเตะปลอกกระสุนเป็นกระเดื่องติดอยู่กับโครงปืนที่เราจะต้องดึงลูกเลื่อนถอยหลังมาจนสุดทาง เพื่อให้จานท้ายปลอกกระสุนชนกับตัวเตะปลอกกระสุนเพื่อให้เกิดการคัดปลอกกระสุน ออกไปนอกตัวปืน

ต่อจากนั้นก็จะเป็นปืนโมเดล 70 Post-64 ซึ่งผลิตในช่วงปี ค.ศ.1964-1971 ซึ่งใช้ขอรั้งปลอกกระสุนฝังอยู่หน้าลูกเลื่อน ซึ่งจะหมุนไปหมุนมาตามการเปิดปิดก้านลูกเลื่อนขึ้นลง ต่างจากขอรั้งขนาดใหญ่ของเมาเซอร์ซึ่งเป็นขอรั้งที่อยู่นิ่งๆ เพราะถูกบังคับด้วยร่องที่อยู่ด้านขวาของโครงปืน ลำตัวลูกเลื่อนจะหมุนตัวขัดกลอน หรือปลดกลอนก็หมุนไปเฉพาะลูกเลื่อน แต่ขอรั้งจะยึดจานท้ายกระสุนไว้ในตำแหน่งเดิมเสมอ

ยิงทดสอบที่สนามยิงปืน 17 รามอินทรา สนาม 200 หลา แต่เดินเข้าไปยิงที่ระยะ 50 หลาก็พอแล้ว ผู้เขียนวางปืนบนฝ่ามือ เฉยๆโดยไม่ได้จับรางปืน เพราะอยากจะดูแรงรีคอยล์ของปืน

กระสุนหัวแข็ง 500 เกรน และ หัวอ่อน 510 เข้าเป้าที่เดียวกัน สังเกตอะไรอย่างหนึ่งนะครับว่าหัวกระสุน .458 รูปร่างก็มนๆ ทู่ๆ เหมือนกับลูก 11 มม. แต่ความเร็วสูงกว่ากันเกินสองเท่าตัว ดังนั้นรอยกระสุนบน เป้าจึงเล็กและขอบรอยกระสุนก็ดูจะคมกว่ากัน

นอกจากนั้นแล้วปืนโมเดล 70 Post-64 ยังใช้ตัวเตะปลอกกระสุนแบบเรมิงตัน คือเป็นเดือยสปริงฝังอยู่หน้าลูกเลื่อน ซึ่งคอยจะดันปลอกกระสุนให้เบนไปทางขวาอยู่ตลอดเวลา พอเราดึงลูกเลื่อนถอยหลัง ปลอกกระสุนก็จะถูกดันให้มาเบียดกับโครงปืน ทางด้านขวามือ จนกระทั่งปากปลอกพ้นช่องคายปลอกก็จะดีดตัวออกไปนอกตัวปืนทันที ผู้ใช้จะต้องรู้ว่าตัวเองต้องดึงลูกเลื่อนต่อมา จนสุดทางแล้วถึงจะดันลูกเลื่อนกลับเข้าไปได้ ไม่งั้นจะเป็นการปิดลูกเลื่อนเปล่าๆ ไม่มี กระสุนเข้าไปด้วย

ส่วนปืนวินเชสเตอร์ .458 วินฯแม็กฯ ในช่วงอายุที่สาม ก็คือปืนโมเดล 70 คลาสสิก หรือรุ่นถอยหลังเข้าคลอง เพราะปืนแบบนี้ ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆอะไรเกิดขึ้นมา เป็นแต่ เป็นการผลิตปืนตามแบบของปืนโมเดล 70 ที่ผลิตก่อนปี ค.ศ.1964 เพื่อแก้ไขที่ตัวเอง ไปหลงผิดหน้ามืดตามัวไปชั่วขณะ เปรียบได้กับว่าพายเรืออยู่ในคลองน้ำใสๆดีอยู่แล้ว ดันเลี้ยวเข้าไปในแม่น้ำที่เน่าเสียเต็มไปด้วย ขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆ แต่ในเมื่อรู้ตัวว่าพลาดไป แล้วก็ยึดถือคติที่ว่า "คนดีแก้ไข คนจัญไร ชอบแก้ตัว" โดยใช้วิธีแก้ไขด้วยการถอยหลังกลับมาเข้าคลองที่ใสสะอาดเช่นเดิม

สำหรับวินเชสเตอร์ .458 กระบอกที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้เป็นปืนในรุ่นคลาสสิก ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า เมื่อสามสี่ปีก่อน อวป. เคยนำวินเชสเตอร์ คลาสสิก .458 วินฯ แม็กฯ มาทำการทดสอบไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ที่นำกลับมาทดสอบอีกครั้งหนึ่งก็เนื่องจากว่าปืนกระบอกนี้มีรายการการเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิม อีกสองที่ก็คือศูนย์หลังที่ของเดิมเป็นศูนย์ขนาดใหญ่ปรับได้เต็มที่ และยังพับใบศูนย์ราบลงมาได้ แต่สำหรับปืนรุ่นใหม่นี้ ยังคงทำศูนย์หลังปรับได้เต็มที่เหมือนเดิมแต่ทำให้มีรูปร่างเพรียวลมสวยงามขึ้น และยังทำใบศูนย์หลังเอนไปข้างหน้าแบบเดียวกับปืนยุโรป ซึ่งมองดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง

อีกจุดหนึ่งที่ .458 โมเดล 70 กระบอกนี้พัฒนาขึ้นมาก็คือทำแท่งเหล็ก รีคอยล์ลักก์พิเศษขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง เชื่อมติดไว้ กับลำกล้องปืนจากของเดิมที่มีเพียงรีคอยล์ลักก์เป็นเนื้อเหล็กชิ้นเดียวกับโครงปืนอยู่ด้านหน้าสุดคือบริเวณโคนลำกล้องกับใช้หมุดร้อย ขวาง 2 ตัวช่วยกันบีบรางปืนเพื่อป้องกัน ไม่ให้รางปืนแตก โดยในปืนรุ่นใหม่นี้ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มรีคอยล์ลักก์พิเศษ ให้อีกตัวหนึ่งเพื่อจะได้ช่วยกันกระจายแรงรีคอยล์ลงไปสู่เนื้อไม้พานท้ายปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อวป. นำวินเชสเตอร์ โมเดล 70 ไปทดสอบที่สนามยิงปืน 17 รามอินทรา โดยในวันนั้นเราเตรียมกระสุนมาสองแบบ เป็นกระสุนวินเชสเตอร์แบบหัวแข็ง 500 เกรน กับหัวอ่อน 510 เกรน กระสุนทั้งสองแบบ ให้ความแม่นยำและแรงถีบที่สะใจพอๆกัน จุดเด่นอย่างหนึ่งของปืนไรเฟิลวินเชสเตอร์ .458 ที่ผมพบก็คือทางโรงงานปรับศูนย์มาให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามปกติเราจะพบได้ เฉพาะกับปืนไรเฟิลจากยุโรปเท่านั้น ปืนไรเฟิลของอเมริกันมักจะไม่ปรับศูนย์มาให้เพราะ เจตนาให้ติดกล้องเสียมากกว่า แต่สำหรับวินเชสเตอร์ .458 ที่เคยลองยิงมา 3 กระบอกในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่าทางโรงงานปรับศูนย์มาให้เที่ยงตรงเรียบร้อยดีทั้ง 3 กระบอก

ปืนที่ทดสอบกระบอกนี้ ห้างฯ ปืน เพ็ญจันทร์ได้ขายไปแล้ว ผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่หมายเลข 222-9524, 222-0430.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 321 กรกฎาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com