สปริงฟิลด์ M1911-A1 9 มม. เกรดคัสตอม

ต้องยอมรับว่าเอกลักษณ์ของปืน M1911 คือกระสุน .45 ACP และเมื่อพูดถึงกระสุน .45 ACP ก็ต้องนึกไปถึงปืน M1911 ที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะว่าปืน 1911 ที่ ผลิตออกมามากที่สุดก็คือปืนที่ผลิตให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ใช้กระสุนขนาดนี้นั่นเอง อันที่จริงแล้วโคลท์ออโตกระบอกโตๆ ในระดับพกซองนอกรุ่นดั้งเดิมอย่างเช่น ปืนโมเดล 1900 กับ 1902 จะใช้กระสุน ขนาด .38 ACP ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้ปลอกกระสุนและหัวกระสุนแบบเดียวกับกระสุนขนาด .38 ซูเปอร์ เพียงแต่ความเร็วต่ำกว่า เนื่องจากโครงปืนของโคลท์ โมเดล 1900 ยังไม่แข็งแรงนัก จนกระทั่งโคลท์ออกปืน 1911 ออกมาแล้วจึงได้โหลดกระสุน .38 ACP ให้ร้อนแรงขึ้นเป็น .38 ซูเปอร์ในปี ค.ศ. 1929 และในปัจจุบันนี้จะเป็นที่รู้กันว่า .38 ACP จะใช้ปลอกทองเหลือง ส่วน .38 ซูเปอร์จะใช้ปลอกชุบนิเกิล กับเพิ่มโค้ด +P เตือนไว้ว่าห้ามเอาไปใช้กับปืนรุ่นโบราณ

ภาพเต็มทั้งสองด้านของสปริงฟิลด์ M1911A1

กระสุนขนาด 9 มม. พาราเบลลัม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปืน 1911 เอาในช่วงหลังสงครามเกาหลี เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯเริ่มสนใจในกระสุนขนาดนี้ เรื่องของเรื่องคงจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะเป็นกระสุนที่เยอรมันใช้เป็นกระสุนปืนพกกับปืนกลมือในสงครามโลกทั้งสองครั้ง คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดูเหมือนว่า จะมีเยอรมันเพียงประเทศเดียวที่ใช้กระสุน 9 มม. พาราเบลลัม แต่พอถึงสงครามโลกครั้งที่สองประเทศต่างๆ ก็พากันรับเอากระสุนขนาดนี้ไปใช้กับปืนกลมือของตัวเอง

กระสุน 9 มม. มีข้อดีหลายอย่าง เช่นมีขนาดเล็กสั้น จึงมีน้ำหนักเบา กระสุนทั้งนัดหนักเพียง 170-180 เกรน ซึ่งเบากว่าหัวกระสุน .45 ออโตแบบที่เบาที่สุดเสียอีก เคยอ่านหนังสือปืนหลายๆ เล่มตำหนิการตัดสินใจของกองทัพสหรัฐที่รับกระสุน 9 มม. มาใช้แทน .45 เมื่อปี ค.ศ. 1985 ในทำนองว่ากระสุน 9 มม. มีอำนาจหยุดยั้งน้อยเกินไป ซึ่งผมยังไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าใดนัก เพราะกระสุน 9 มม. ที่ใช้ทางทหารนั้นมีอำนาจมากกว่ากระสุนพาณิชย์โดยทั่วไป อย่างเช่นกระสุนมาตรฐานของกองทัพอังกฤษ แบบมาร์คทู ใช้หัว 115 เกรน ความเร็ว 1,300 ฟุต/วินาที และมีพลังงาน 431 ฟุต-ปอนด์ หรือกระสุนมาตรฐานของกองทัพสหรัฐฯ แบบ M882 ซึ่งใช้หัว 124 เกรน ความเร็ว 1,251 ฟุต/วินาที ได้พลังงาน 431 ฟุต-ปอนด์ เอไม่รู้ทำไมตัวเลขดันไปเท่ากับกระสุนทหารของอังกฤษได้ เล่นเอาต้องกลับเปิดตำราดูใหม่อีกรอบหนึ่ง

ศูนย์หลังแบบคอมแบ็ทของโนแว็ก แข็งแรง ทนทาน ร่องบากคมกริบ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีบิดเบี้ยว มีสกรูตัวหนอนสำหรับล็อกกันเคลื่อน


แต่ยังไงๆ กระสุน 9 มม. ของทางทหารก็ยังมีพลังงานเหนือกว่ากระสุน .45 ถึง 20% บางท่านอาจจะติว่า 9 มม. คมเกินไป ทำให้ทิ้งพลังงานไว้กับเป้าหมายไม่มากนัก เสียแรงให้หัวกระสุนวิ่งทะลุออกไปเปล่าๆ แต่อย่าลืมนะครับเวลายิงต่อสู้กันเขาไม่ได้ เดินออกมายิงกันกลางถนนแบบในหนังเคาบอย ต้องมีการหาที่กำบังกันพอสมควร อย่างน้อยก็ต้องเป็นประตูรถ แล้วแต่ละคน ก็ยังมีเสื้อผ้าตั้งหลายชั้นเผลอๆอาจจะแถมเสื้อเกราะกันกระสุนอีกด้วย กระสุน .45 ไม่มีแบบเจาะเกราะหรอกครับ แล้วคงไม่มีใครคิดจะทำด้วย ในทัศนะของผมนั้น กระสุน .45 เหนือกว่า 9 มม. ตรงที่ยิงแม่นกว่า แล้วก็เจาะเป้ารูโตดีทำให้มีโอกาสได้คะแนนมากกว่า 9 มม. เท่านั้นเอง ตามปกติแล้วผมมักจะใช้ .45 แต่ถ้าต้องไปทำงานแบบกะทันหันชนิดที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารอะไรมากนัก ผมจะคว้ากล็อก 17 เอาไว้ก่อนเพราะเปิดกระเป๋าขึ้นมาจะได้ปืน 1 กระบอกกับอะไหล่อีก 2 แม็กฯ ซึ่งหมายความว่ามีกระสุนติดตัวไปตั้ง 51 นัด

อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าช่วงหลังสงครามเกาหลี สหรัฐฯเคยแสดงความสนใจที่จะเปลี่ยนกระสุนจาก .45 มาเป็น 9 มม. ในช่วงนั้นโคลท์จึงได้เอาปืน 1911 มาตัดลำกล้องออกไป 6 หุน เหลือ 4.25 นิ้ว แต่พอดีโครงการจัดหาปืนพก 9 มม. ครั้งนั้นต้องล้มไปเพราะว่าทหารอเมริกันย้อนกลับ ไปสำรวจดูในคลังเห็นว่ายังเหลือกระสุน .45 อยู่อีกมากมายมหาศาล จึงได้ยุติโครงการ ไปดื้อๆ ส่วนโคลท์นั้นถือหลักว่าง้างนกแล้วต้องยิง ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1950 โคลท์จึงได้นำเอาปืน 9 มม. ของตัวเองออกมาวางตลาด ให้ชื่อรุ่นว่า คอมมานเดอร์ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า เป็นปืนของผู้บังคับบัญชาอะไรทำนองนั้น

การถอดปืน ให้ปลดซองกระสุน แล้วเคลียร์รังเพลิง ให้เรียบร้อย จากนั้นใช้ประแจหกเหลี่ยมขนาด 4 มม. คลายเกลียวแยกไกด์ร็อดท่อนหน้าออกมาก่อน

หาแว่นสายตาหรือแว่นนิรภัยสวมเพื่อลดอันตราย เวลาสปริงดีดใส่หน้า แล้วกดครอบสปริงพร้อมกับบิดบูช ลำกล้องตามเข็มนาฬิกาไปจนสุด แล้วปล่อยรีคอยล์สปริงคลายตัวออกมา คาสปริงติดปืนเอาไว้ก่อน ไกด์ร็อดชิ้นหลังจะได้ไม่แกว่งไป ขัดตัวกับชิ้นส่วนอื่นๆข้างใน

โคลท์ คอมมานเดอร์ ขนาด 9 มม. ได้รับการตอบรับจากตลาดพอสมควร ดังนั้น ในเวลาต่อมาโคลท์จึงได้บรรจุกระสุน ขนาดนี้กับปืน 1911 ลำกล้อง 5 นิ้ว มาตรฐานอีกด้วย ต่อมาเมื่อสิทธิบัตรคุ้มครองการผลิตปืน 1911 หมดอายุลงไป โรงงาน ต่างๆได้พากันผลิตปืน 1911 ออกมา รวมทั้งสปริงฟิลด์ของเรา

ในระยะแรกสปริงฟิลด์เข้าตลาด ด้วยการขายของถูกเอาราคามาเป็นจุดขาย ต่อมาก็เริ่มปรับกลยุทธ์โดยยังไม่ทิ้งปัจจัยราคา แต่เพิ่มการรุกตลาดโดยการจัดตั้งทีมแข่งยิงปืนของตัวเอง หามือดีๆมาแต่งปืนกับใส่เสื้อสปริงฟิลด์ลงแข่ง เล่นทุกอย่างตั้งแต่การแข่งแบบ NRA ที่คล้ายๆกับปืนสั้นชาวบ้านในบ้านเรา กับการแข่งแบบรณยุทธ์ประเภทต่างๆไปจนถึงแมทช์เอ็นอาร์เอ ไฮ-เพาเวอร์ ไรเฟิล ซึ่งแข่งกันในระยะ 200, 300 และ 600 หลา

สำหรับปืนสั้นแบบ M1911 ของ สปริงฟิลด์จะมีรุ่นกระสุน 9 มม. เป็นส่วนหนึ่งคู่กับ .45 และ .38 ซูเปอร์อยู่เสมอ เพราะจริงๆแล้วกระสุนทั้งสามขนาดนี้ก็จัดว่า อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะเกิดเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมือนๆกัน โดย .38 ซูเปอร์สมัยที่ยังเป็น .38 ACP อยู่จะเป็นพี่ใหญ่ที่สุดเพราะถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900 ส่วน 9 มม. พาราเบลลัมน้องกลาง อายุอ่อนกว่า 2 ขวบเพราะถือกำเนิดในปี ค.ศ.1902 แล้ว .45 ออโตก็ตามมาทีหลังอีก 3 ปี แต่เป็นเด็กโข่งเกิดทีหลังกินจุกว่าเขาก็เลยตัวโตกว่าเพื่อน

จับสไลด์ถอยหลังจนท้ายคันค้างสไลด์มาตรงกับ รอยบากรูปเล็บมือ ปลดคันค้างสไลด์ออกมา หงายปืนแล้วดึงสไลด์ออกไปทางด้านหน้า

ยกไกด์ร็อดชิ้นหลังออกมาทางด้านหลัง ล้มห่วงโตงเตงไปข้างหน้า บิดบูชทวนเข็มนาฬิกาไปจนสุด แล้วถอดลำกล้องออกไปทางด้านหน้าเหมือนกับ M1911 มาตรฐาน

ในปี ค.ศ. 1902 กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมเป็นกระสุนที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับปืนพาราเบลลัม เพื่อที่จะเสนอขายให้กับกองทัพเยอรมัน ดั้งเดิมทีเดียวนั้นปืนพาราเบลลัมจะทำออกมาใช้กับกระสุน 7.65x21 มม. แบบที่ชาวอเมริกันเรียกว่า .30 ลูเกอร์ เพราะคนออกแบบปืนพาราเบลลัมกับกระสุน 7.65x21 มม. และ 9 มม.พาราเบลลัมนั้นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันชื่อ ยอร์จ ลูเกอร์

การที่คุณลูเกอร์แกออกแบบเป็นขนาด 7.65 มม. ก็คงเพราะต้องการแข่ง กับปืนเมาเซอร์ที่ใช้กระสุน 7.63 แต่พอดู ทางลมแล้วเห็นว่าทหารเยอรมันชอบ 9 มม. มากกว่าก็เลยขยายกระสุนของตัวเองขึ้นเป็น 9 มม. ซึ่งก็ได้ผลครับ เพราะกองทัพเรือ เยอรมันรับเอาปืนกับกระสุน 9 มม. พาราเบลลัมไว้ใช้ในราชการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 และต่อมากองทัพบกเยอรมันก็รับไว้ใช้ในปี ค.ศ.1908 ซึ่งถือเป็นใบสั่งซื้อขนาดใหญ่มาก จนทำให้ปืนพาราเบลลัมในชื่อ P-08 ตามมาตรฐานกองทัพเยอรมันกลายเป็นชื่อที่แพร่หลายไปทั่วโลก

ถอดแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับทำความสะอาดตามปกติ แต่ถ้าจะถอดต่อไปก็ทำเหมือนกับ 1911 ธรรมดาที่เราเคย แนะนำมาแล้ว

หลังจากนั้นเยอรมันก็ใช้กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และถึงเยอรมันจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามทั้งสองครั้งรวด แต่เราก็จะโทษว่าเป็นความผิดของกระสุน 9 มม.ไม่ได้จริงๆต้องถือว่ากระสุน 9 มม. พาราเบลลัม เป็นฝ่ายชนะสงครามเสียด้วยซ้ำ เพราะในปัจจุบันนี้กองทัพของแทบทุกประเทศต่างก็หันมาใช้กระสุนขนาด 9 มม.พาราเบลลัมกับปืนพกและปืนกลมือของตัวเอง

กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมได้รับความนิยมเสียจนมีการนำเอาไปดัดแปลงถึง 2 ครั้ง คือวินเชสเตอร์เอาไปยืดปลอกเป็น 9 มม.วินฯ แม็กฯ ในปี ค.ศ.1977 และเฟเดอรัลเอาไปใส่จานท้ายเพื่อใช้กับปืนลูกโม่ ในปี ค.ศ. 1989 แต่สำหรับ 9 มม. ดิลลอน กับ 9 มม.AE ไม่เกี่ยวกันนะครับ เพราะ 9x25 มม. ดิลลอนใช้ปลอกของ 10 มม. มาบีบคอลง ส่วน 9 AE ก็คล้ายๆกันคือใช้ปลอก .41 AE มาบีบคอ

แต่สำหรับ 9 AE ออกจะเป็นเรื่องตลกที่เดิมทีเดียว AE อยากได้กระสุนหน้าตัดใหญ่ที่ยิงในปืน 9 มม. เดิมได้ จึงได้เอาปลอกกระสุนขนาด .41 มากลึงจานท้ายออกให้เหลือเท่ากับของ 9 มม. พอเปลี่ยน ลำกล้องกับซองกระสุนก็ใช้ .41 ได้เลย แต่ไปๆมาๆเกิดอยากได้ลูกความเร็วสูงขึ้นมาอีก จึงได้เอาปลอก .41 AE มาบีบคอลงกลายเป็นกระสุนจานท้ายเล็ก หัวเล็กเท่ากับ 9 มม. แต่ลำตัวปลอกกระสุนใหญ่เท่า .41 ดีเหมือนกัน เพราะถ้าเกิดอยากได้ปืน 9 มม. ที่แรงเป็นพิเศษก็แค่คว้านรังเพลิงใหม่บนลำกล้อง 9 มม. ของเดิมกับเปลี่ยนซองกระสุนมาใช้ของ .41 ก็ใช้ 9 มม. AE ได้แล้ว

ลำกล้องมีแรมพ์ซึ่งมีเนื้อที่รังเพลิง หุ้มปลอกกระสุนมาถึงด้านท้ายได้แน่นหนา ดีกว่าลำกล้องแบบไม่มีแรมพ์

ในจังหวะป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงท้าย ลำกล้องจะวางตัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะรับ กระสุนจากซองกระสุนในลักษณะนี้

ในปัจจุบันนี้กระสุน 9 มม.ในท้องตลาดมีให้เลือกใช้ได้ตั้งแต่แบบที่หัวเบาที่สุด 63 เกรนของฟิอ็อกกี้ ความเร็วต้น 1,883 ฟุต/วินาที ซึ่งเป็นกระสุนหัวพลาสติกหุ้มโลหะเพื่อที่จะได้ยาวพอที่จะทรงตัวได้ ไม่งั้นคงร่อนไปร่อนมาเหมือนเขียงบินได้อะไรทำนองนั้น สำหรับกระสุนโลหะล้วนๆ ที่เบาที่สุดคงจะเป็นเรมิงตัน 88 เกรน หัวรู แต่ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว จึงเสียแชมป์ให้กับฮอร์เนดี 90 เกรน แบบ JHP/XTP ความเร็ว 1,360 ฟุต/วินาที ส่วน 9 มม. ที่หัวกระสุนหนักที่สุดเป็นกระสุนจากยุโรปคือแฮนเส็นกับฟิอ็อกกี้ซึ่งใช้ หัว 158 เกรน ความเร็ว 950 ฟุต/วินาที ส่วนกระสุนของอเมริกันทุกยี่ห้อจะไปหยุดกันอยู่ที่ 147 เกรน ความเร็ว 960-1,010 ฟุต/วินาที

สปริงฟิลด์ 1911A1 คัสตอมกระบอกนี้ ดูรูปร่างภายนอกแล้วก็คงเหมือนกับ 1911 แบบสเตนเลสส์กระบอกอื่น แต่ศักดิ์ศรีของปืน คัสตอมจะไปอยู่ตรงที่ฝีมือการประกอบซึ่งแน่นหนาดีกว่าปืนตลาดทั่วไป แก้มประกับด้ามใช้ไม้จริงคือไม้โกโกโบโลเนื้อละเอียด สีออกไปทางโกโก้สมชื่อ เป็นสีน้ำตาลอมแดงดูแปลกตาดี แต่ที่ถูกใจที่สุดก็คือสปริงฟิลด์กระบอกนี้ใช้ลำกล้องเป็นแบบมีแรมพ์ท้าย ลำกล้องมาให้จากโรงงาน

การประกอบกลับ ใส่ลำกล้องกลับเข้าไปทางด้านหน้า ใส่บูชเข้าไปในตำแหน่งบิดทวนเข็มนาฬิกา พอบูชเข้าที่แล้วค่อยบิดบูชตามเข็มนาฬิกากลับมา จากนั้นก็ใส่ไกด์ร็อดกลับ เข้าที่แล้วก็ล้มห่วงโตงเตงกลับมาด้านหน้าแบบนี้

สอดโครงปืนเข้าร่องสไลด์ ปืนกระบอกนี้ต้องดันสไลด์เข้ามาที่ตำแหน่งนี้แล้ว ห่วงโตงเตงจะเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่จะดันคันค้างสไลด์เข้าไปได้พอดี ดันคันค้างสไลด์เข้าไป จนสุดแล้วผลักสไลด์เดินหน้าให้ตรงกับรอยบากรูปเล็บมือ จากนั้นค่อยดันคันค้างสไลด์เข้าที่

เจ้าแรมพ์ตัวนี้ดีอย่างไรครับ ถ้าเป็น 1911 ในขนาด .45 ผมจะไม่กังวลใจเลย เพราะเป็นกระสุนที่เกิดมาคู่กับปืนแบบนี้ โดยตรงอยู่แล้ว ถ้าเราลองเอากระสุน .45 สอดเข้าไปในรังเพลิงแบบไม่มีแรมพ์แล้ว หงายดูตรงด้านล่างที่ปาดเนื้อเหล็กออกไป เป็นทางลาดป้อนกระสุน เราจะพบว่าทางลาดนี้กินเนื้อเหล็กรังเพลิงเข้าไปเพียงเล็กน้อย เพราะกระสุน .45 มีขนาดใหญ่ทำให้รังเพลิงโตตามไปด้วย เนื้อเหล็กรังเพลิงตรงนี้ ค่อนข้างบางทำให้ปาดเนื้อเหล็กเฉียงเข้าไปไม่ลึกนัก แต่ถ้าเป็นรังเพลิง .38 ซูเปอร์หรือ 9 มม. ซึ่งรูเล็กกว่า .45 แต่ข้างนอกโตเท่ากัน ทางลาดนี้หรือ Feed ramp นี้ก็จะต้องถูกคว้านให้สูงและลึกมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้กินเนื้อเหล็กของรังเพลิงเข้าไปโขอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือถ้ากระสุนแรงเกินไป หรือปลอกกระสุนไม่ได้มาตรฐานอาจจะระเบิดทะลุออกมาได้ สถานเบาก็คือเศษทองเหลืองสลัดออกมาพร้อมกับปลอกกระสุน ส่วนสถานหนักนั้นแรงระเบิดอาจจะไประเบิดกระสุนที่อยู่ในซองกระสุนพุ่งลงมาข้างล่าง ถ้ายิงมือเดียวแบบอาจารย์วีระก็คงไม่กระไรนัก อย่างมากก็แค่หัวแม่เท้าบวม แต่ถ้ายิงสองมือก็ลองเล็งดูเถอะครับ แนวระเบิดจะพุ่งลงมาแถวๆเป้ากางเกงพอดีเลย

ผลักสไลด์เดินหน้าจนสุด ใส่รีคอยล์สปริงกับหลอดครอบ บิดบูชเข้าที่แล้วก็ใส่ไกด์ร็อดชิ้นหน้าขันเกลียว กลับคืนเข้าไปง่ายๆ

อวป. นำสปริงฟิลด์ M1911A1 ไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืนราชนาวี บางนา เหมือนเดิม เราพยายามหากระสุนมาทดสอบให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะหาได้ 2 แบบแรกมาจากอเมริกา และเป็นแบบที่หัวกระสุนหนักที่สุดคือสเปียร์ 147 เกรน แบบ FMJ รองลงมาเป็นเรมิงตัน 124 เกรน แบบปลอดสารตะกั่วหรือ Lead free ซึ่งใช้หัวกระสุนแบบ TMJ คือเป็นแบบ FMJ ที่เพิ่มถ้วยทองแดงปิดตอนท้ายของหัวกระสุน ป้องกันไม่ให้เผาตะกั่วกระจายฟุ้งออกมาในอากาศ นอกจากนั้นชนวนหรือไพรเมอร์ของกระสุนเรมิงตันรุ่นนี้ก็ยังปลอดตะกั่ว คือไม่ใช้เกลือสติฟเนตของตะกั่ว หรือ Lead Styphnate (Lead Trinitroresorcinate) แบบที่ใช้กันทั่วไป กระสุนแบบนี้เหมาะสำหรับใช้ในสนามยิงปืน แบบปิดจะได้ไม่มีละอองตะกั่วลอยอยู่ในอากาศจนเข้าไปกับลมหายใจของเรา

ยิงทดสอบในระยะ 15 เมตร ปืน 1911 ขนาด 9 มม. ของโคลท์ได้ชื่อว่าเป็นปืนที่เลือกลูกพอสมควร ผมจึงพยายามหากระสุนมาทดลองยิงให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ มีสเปียร์ 147 เกรน หัวรู, เรมิงตัน 124 เกรน หัวแข็ง แบบมนกลม, ฟิอ็อกกี้ คอมแบ็ท 123 เกรน ปลายตัด, แล้วก็ PMP 115 เกรนจากแอฟริกาใต้ เป็น หัว FMJ มนกลมแบบมาตรฐาน และปิดท้ายด้วยบุลเล็ทมาสเตอร์ 135 เกรน หัวตะกั่ว ปรากฏว่า สปริงฟิลด์กระบอกนี้จัดการได้เรียบร้อยทุกยี่ห้อโดยไม่มีการติดขัดใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ลูก PMP ของแอฟริกาใต้ ซึ่งโหลดมาอ่อนมาก ก็ยังคายปลอกกับป้อนกระสุนได้เรียบร้อยดี เพียงแต่พอยิงนัดสุดท้ายสไลด์ไม่ค้าง เพราะถอยไม่สุดเท่านั้นเอง และเป้าซ้าย เรมิงตัน 124 เกรน เป้าขวาฟิอ็อกกี้ 123 เกรน

กระสุนอีก 3 แบบที่เรานำมายิงทดสอบด้วยก็มีฟิอ็อกกี้ 123 เกรน หัวตัด แล้วก็ PMP 115 เกรน จากแอฟริกาใต้ ส่วนแบบสุดท้ายก็คือบุลเล็ทมาสเตอร์ หัวตะกั่ว 135 เกรน กระสุนที่ผลิตในบ้านเรานี่เอง ปรากฏว่าสปริงฟิลด์กระบอกนี้ยิง กระสุนได้ทุกแบบโดยไม่ติดขัดแม้แต่นัดเดียว เพียงแต่กระสุนที่อัดมาอ่อนสักหน่อยอย่างเช่น PSP 115 เกรนสไลด์จะไม่ค้างเท่านั้นเอง

เป้าซ้าย PMP 115 เกรน และเป้าขวา สเปียร์ 147 เกรน

ปืนกระบอกนี้ได้ข่าวว่ามีส่งเข้ามาแบบฟลุ๊กๆ เพียง 2 กระบอก ทางห้างฯ ปืน ศ.ธนพล สั่งไปเป็นแบบรุ่นธรรมดาแต่โรงงานส่งรุ่นคัสตอม แล้วก็เก็บเงินในราคารุ่นคัสตอม ไม่ทราบว่าพอหนังสือออกจะยังเหลือหรือเปล่า ลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล อยู่บนดิโอลด์สยามพลาซ่า เดินผ่านร้านไกอาร์มลึกเข้าไปอีก 20 ก้าวก็ถึง หน้าร้านพอดี ราคาปืนเจ็ดหมื่นเศษ หรืออาจจะโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 223-6457.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 320 มิถุนายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com