สมิธแอนด์เวสสัน มิลิทารี โมเดล 5906 เอ็ม
ปืนสั้นออโตลูกดกกับดับเบิลแอ๊คชั่น
ออกแบบมาเพื่อผจญสภาพสุดแสนทุรกันดาร

อาวุธประจำตัวที่อาจจำเป็นต้องแนบกายแทบตลอดเวลา ย่อมหนีไม่พ้นอาวุธปืนสั้น เพราะวัตถุประสงค์ที่พัฒนาขึ้นมาก็เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างนั้น ส่วนผู้ใช้ปืนจะเลือกปืนลูกโม่หรือปืนออโตก็ขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบเป็นการส่วนตัวกับความ เชื่ออันเกิดจากที่ได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังมา แต่ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตามว่าเรื่องราวเกี่ยวกับปืนที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดได้ยินได้ฟังมานั้น มีอิทธิพลต่อทัศนคติและความเชื่อของผู้นั้นมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับปืนอย่างจริงจังมาก่อน แล้วทัศนคติและความเชื่อลักษณะนี้ค่อนข้างจะเปลี่ยนยากเสียด้วยซีครับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ปืนทั้งหลายมีความเห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ต้องการให้อาวุธปืนของตนมีปฏิบัติการไว้วางใจได้เสมอ ต้องไม่เกิดการขลุกขลักหรือติดขัดเมื่อยามจำเป็นต้องใช้งาน ยิ่งในกรณีฉุกเฉินตอนหน้าสิ่วหน้าขวาน ปืนเกิดไม่ยอมทำงานถึงกับเรียกว่า ปืนทรยศกันเลยทีเดียวละครับ ส่วนเรื่องความแม่นยำและความสวยงามก็เป็นเรื่องรองลงไป ยกเว้นปืนที่ทำมาเพื่อใช้ยิงเป้าแข่งขันหรือเพื่อวางโชว์โดยเฉพาะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ภาพเต็มตัวด้านซ้ายของสมิธแอนด์เวสสัน 5906 เอ็ม

ปัจจุบัน อาวุธปืนทั้งหลายได้รับการพัฒนามาจนเชื่อถือไว้วางใจได้ในแทบทุกด้าน แต่อาจมีบางส่วนที่ดูว่าด้อยลงไป อย่างการ แต่งผิวให้เงางามดูเด่นสะดุดตา ซึ่งแทบจะไม่ได้พบเห็นในปืนรุ่นใหม่อีกแล้ว เพราะผิวปืนได้รับการพัฒนาให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีขึ้น โดยใช้กรรมวิธีแตกต่างไปจากเดิม นอกจากจะป้องกันการสึกกร่อนให้น้อยลงแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ปืนเกิดการขัดข้องขึ้นอีกด้วย

สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ปืนยิงติดขัด ก็คือความฟิตแน่นของกลไกและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวขณะปฏิบัติการ วิธีแก้ไขที่ โรงงานผู้ผลิตนิยมทำกันมาก็คือทำให้ปืนมีการหลวมคลอนพอสมควร และในส่วนของ ผู้ใช้ปืนก็ต้องเอาใจใส่ทำความสะอาดก่อนและหลังทำการยิงเสมอ ด้วยเหตุนี้ความแม่นยำกับการยิงที่ลื่นไหลจึงมักจะสวนทางกันเสมอ แต่ด้วยวิทยาการและการค้นคว้าทั้งในด้านกรรมวิธีการผลิตและในด้านวัสดุภัณฑ์ซึ่งรุดหน้า ทำให้ความแม่นยำกับความเชื่อถือวางใจได้ในการทำงานของอาวุธปืนสามารถเคียงคู่กันไปได้ เพียงแต่ผู้ใช้ปืนต้องรับภาระการบำรุงรักษาให้มีสภาพดีเสมอเท่านั้นเองครับ

ภาพเต็มตัวด้านขวาของสมิธแอนด์เวสสัน 5906 เอ็ม

เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ต้องมีการดูแลรักษาทั้งสิ้น เพื่อให้ใช้งานได้ดีเป็นเวลานานๆ อาวุธปืนก็ไม่มีข้อยกเว้นครับ สำหรับการนำปืนไปยิงฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความชำนาญ หรือเพื่อให้ใช้งานได้คล่องมือตามปกติมักไม่ค่อยมีปัญหาปืนติดขัด เพราะมีโอกาสถอดทำความสะอาดได้หมดจด แต่สำหรับผู้ที่มีภารกิจหรือมีหน้าที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในสภาพภูมิประเทศห่างไกลแ ละทุรกันดาร ประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของปืน และผู้ที่ฝากชีวิตไว้กับ ปืนคู่กายกลับไม่มีโอกาสที่จะดูแลปืน หรือทำความสะอาดได้ตามปกติเช่นเคย

บริษัท สมิธแอนด์เวสสัน ได้เล็งเห็นปัญหาอุปสรรคสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนในสภาพแวดล้อมดังกล่าว จึงได้ พัฒนาปืนสั้นออโตลูกดกที่มีอยู่แล้วให้มีสมรรถนะเหมาะสมที่จะใช้ในสถานการณ์ อย่างนี้ขึ้นมาตามความต้องการของผู้ใช้ อันที่จริงปืนสั้นของสมิธแอนด์เวสสันก็อยู่ในอันดับชั้นนำของโลก ยิ่งถ้าได้รับการพัฒนาต่อไปอีกก็ยิ่งจะเชื่อถือไว้วางใจได้มากขึ้น ปืนสั้นออโตสมิธแอนด์เวสสันที่กำลังกล่าวถึงนี้ นักนิยมปืนทั้งหลายรู้จักกันดี คือ สมิธแอนด์เวสสัน โมเดล 5906 M หรือ 5906 มิลิทารี ที่ผู้เขียนกล่าวว่านักนิยมปืนรู้จักดี ทั้งๆที่เป็นรุ่นที่ออกมาใหม่ก็เพราะว่าลักษณะรูปร่าง โดยรวมแล้วถ้าไม่ได้เพ่งพิศพิจารณาเสียหน่อย มันก็ไม่แตกต่างจากโมเดล 5906 จะรู้สึกแปลกๆอยู่บ้างก็ตรงที่ทำด้วยเหล็กรมดำ ไม่ใช่สีขาวเงินยวงของเหล็กปลอดสนิมอย่างที่เคยพบเห็นกันมาจนชินตาครับ

ดร.เทียนชัย ผู้เขียนยืนยิงทดสอบ ที่ระยะประมาณ 15 เมตร ในจังหวะปืนลั่นออกไป ท.พ.จันทร์ ยิงระยะเดียวกัน องศาของปืนสะบัดขึ้นใกล้เคียงกับผู้เขียน

แต่สมิธแอนด์เวสสัน ออโต 5906 M ไม่ใช่ปืนสั้นออโตลูกดกดับเบิลแอ๊คชั่นประเภท "วันเดอร์ไนน์" ธรรมดาๆ เพราะมันมีลักษณะพิเศษบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายใน คือจริงๆแล้วปืนออโตรุ่นนี้ทำจากแท่งเหล็กสเตนเลสส์ โดยกรรมวิธีทุบขึ้นรูปแล้วอบชุบด้วยความร้อนจนมีความแข็งที่ผิวถึง 70 ร็อกเวลล์ ตามกระบวนการ "เมโลไนท์" ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ดังนั้น ปืนโมเดล 5906 มิลิทารี จึงมีความทนทานต่อการกัดกร่อน การสึกหรอและการขีดข่วนที่พื้นผิวเป็นอย่างยิ่ง ทำให้พอเชื่อได้ว่าผิวรมดำบนเหล็กปลอดสนิมก็ควรจะมีความคงทนด้วย

ลักษณะอย่างอื่นๆ ที่ปืน 5906 M แตกต่างไปจากปืน 5906 ก็คือ คันนิรภัย หัวแม่มือบนลำเลื่อนไม่ได้ทำหน้าที่คันนิรภัย/ลดนกอย่างรุ่นก่อนๆ แต่ทำหน้าที่เป็นคันลดนกสถานเดียว แถมยังมีให้ทั้งสองข้าง ทั้งด้านซ้าย-ขวาอีกด้วยครับ นอกนั้นก็มีปุ่ม เป็นห่วงร้อยสายกันตกที่ส้นด้าม สมเป็นปืนสั้นที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในกิจการทหารอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับปืนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา คือมีการสลักหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์จากโรงงานลงบนลำกล้องภายนอกตรงช่องคายปลอก บนลำเลื่อนและบนโครงปืน ส่วนหมายเลขดังกล่าวที่สลักไว้บนโครงปืนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติครับ สำหรับปืนสั้นที่ผลิตจากประเทศแถบยุโรปตะวันตกนั้น การสลักหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ ไว้บนลำเลื่อน ลำกล้อง และโครงปืน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันครับ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่แปลกไปจากปืนสั้นออโตของสมิธแอนด์เวสสันโดยทั่วไปนั้น อยู่ที่โครงปืนครับ เพราะมันทำด้วยเหล็กสเตนเลสส์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทำด้วยโลหะผสมน้ำหนักเบา แล้วนำมาแต่งผิวให้เหมือนรมดำอย่างที่คุ้นเคยกัน แต่เป็นเหล็กสเตนเลสส์รมดำเช่นเดียวกับลำเลื่อนครับ ผลก็คือน้ำหนักปืนเปล่าปาเข้าไปถึง 37.5 ออนซ์ เกือบเท่าปืนโคลท์ออโต 1911 เลยทีเดียว เพิ่มความสมบุกสมบันให้แก่ปืนอีกไม่น้อยเลยนะครับ

ดร.ผณิศวร เล็งยิงค่อนข้างประณีตขึ้นหน่อย น.ท.สุรพล เล็งยิงอย่างตั้งใจ ผอ.สุวิทย์ ยิงด้วยวิธีกำปืนคล้ายกับ พ.ท.สุพินท์

แก้มด้ามปืนทำด้วยพลาสติกชิ้นเดียว ตามลักษณะของปืนสั้นออโตรุ่น "เธิร์ด เจนเนอเรชั่น" ของสมิธแอนด์เวสสัน สีดำ กลมกลืนกับโครงปืนและลำเลื่อน นกสับแบบปืนรุ่นใหม่ คือ นูนตามขอบแต่คว้านเนื้อเหล็กตรงกลางให้เว้าเข้าไป ทำให้น้ำหนักเบาลง แต่ยังคงความแข็งแรงไว้ได้ดีกว่าแบบเจาะโปร่ง ศูนย์หลังของโนแว็กส์ทรงต่ำ พลอยให้ใบศูนย์หน้าต้องทำแบบยอดราบตรง แต่ฐานศูนย์เสียบเข้ากับร่องขวางของปลายลำเลื่อน ถ้าใบศูนย์เตี้ยไปนิด หรือสูงไปหน่อยก็เปลี่ยนได้ไม่ยาก ส่วนจะหาซื้อใบศูนย์หน้า ยากหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ ส่วนที่มองเห็นได้ตรงๆ ว่าทำด้วยเหล็กสเตนเลสส์ หรือเหล็กปลอดสนิม แต่ไม่ปลอดจากตามดนั้น คือลำกล้องกับแม็กกาซีน โดยเฉพาะลำกล้องเป็นแบบปลายมีคอคอด แต่ไม่คอดเล็กเกินไปเหมือนพื้นที่ของประเทศไทยแถวๆจังหวัดชุมพรและระนอง ซึ่งเอื้อเฟื้อแบ่งให้ประเทศเพื่อนบ้านมากไปหน่อยครับ คือบริเวณตรงไหนเป็นป่าเขาเราไม่ชอบอยู่ ก็ยกให้เขาไป พอทีเขาๆกลับลากปืนใหญ่ ข้ามเขามายิงเราได้ ขอประทานโทษครับ ผู้เขียนเผลอพาท่านผู้อ่านเข้ารกเข้าพงไปได้ยังไงเนี่ย!

เป้าของผู้เขียนจากซ้ายไปขวา ยิงด้วยกระสุนบุลเล็ทมาสเตอร์, วินเชสเตอร์ และฟิอ็อกกี้ ตามลำดับ

แม็กกาซีนสเตนเลสส์ของปืน 5906 M ดูเผินๆก็เหมือนของปืนออโตลูกดกรุ่นอื่นๆ ของสมิธฯ แต่รายละเอียดไม่เหมือนครับ คือตัวเลขบอกจำนวนกระสุนประทับไว้ข้างๆ รูกลมๆด้านข้างของตัวแม็กฯ ไม่ใช้เลขคู่ แต่กลับใช้เลขคี่ เป็นไปได้ตรงที่ว่า เมื่อบรรจุ กระสุนเต็ม 15 นัดมันก็เป็นเลขคี่อยู่แล้ว เลยใช้เลขคี่ 5, 7, 9... ไปให้ตลอดเสียรู้แล้วรู้รอด อย่างนี้หรือเปล่าไม่ทราบครับ แต่ไม่ว่าตัวแม็กกาซีนจะประทับตัวเลขบอกจำนวนกระสุนในแม็กฯ จะเป็นเลขคู่หรือเลขคี่ ผู้เขียนยังไม่เคยพบเห็นว่าแม็กฯของปืนออโต ของสมิธแอนด์เวสสันป้อนลูกติดขัดเลยครับ พูดแบบนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยผุๆ อย่างผู้เขียน ก็บอกว่ามันไม่มีสหสัมพันธ์ (Cor-relation) กันนะครับ

เป้าซ้ายของ น.ท.สุรพล เป้าขวาของ อ.วีระ

ขนาดรูปร่างหรือหุ่นทรงของสมิธแอนด์เวสสันรุ่นนี้ดูสมส่วนลงตัวพอดีอย่างบอกไม่ถูก และสมดุลการจับถือของปืนกำลังพอเหมาะ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงด้ามเป็นเหล็กสเตนเลสส์ ไม่ใช่เป็นอะลูมินั่มผสม น้ำหนักเบาก็เป็นได้ครับ แต่เรามาดูกัน อีกครั้งเมื่อตอนยิงจริงๆ หลังจากนี้

เป้าซ้ายของ ท.พ.จันทร์ เป้าขวาของ พ.ท.สุพินท์ ได้กลุ่มแคบใกล้เคียงกัน แต่กินสูง-ต่ำต่างกันเล็กน้อย

การยิงทดสอบ หลังจากการตรวจสอบกลไกว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติ ทำความสะอาดเบื้องต้นแล้ว บริหารกลไกต่างๆดู รู้สึกเพียงแต่ว่าน้ำหนักไกมากไปนิด คือ ซิงเกิล 7 ปอนด์ และดับเบิล 15 ปอนด์ แต่ก็ลั่นได้คมเฉียบพอสมควร สปริงลำเลื่อน ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป ศูนย์ปืนแม้จะเป็นทรง เตี้ย แต่ก็เล็งได้ชัดเจนตามปกติ การบรรจุ กระสุนลงแม็กกาซีนทำได้สะดวก ออกแรงนิ้วตามธรรมดา แต่นัดที่ 14-15 ออกแรงกัน มากหน่อยก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละครับ

เป้าซ้ายของ ดร.ผณิศวร เป้าขวาของ ผ.อ.สุวิทย์ เห็นได้ชัดว่าปืนไม่ค่อยถูกโฉลกกับกระสุนล็อตนี้สักเท่าไหร่นัก

ผู้เขียนออกไปยืนยิงจับปืนสองมือที่ระยะ 15 เมตร ใช้กระสุน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ บุลเล็ทมาสเตอร์ หัวหนัก 135 เกรน แบบ ตะกั่วหัวมน วินเชสเตอร์ 116 เกรน หัวหุ้ม เปลือกแข็ง และฟิอ็อกกี้ หัวหุ้มเปลือกแข็ง ปลายตัด 123 เกรน ปรากฏว่าการเล็งและการยิงของผู้เขียนทำกลุ่ม 5 นัดกินซ้ายและค่อนข้างต่ำทุกยี่ห้อ แต่กระสุนวินเชสเตอร์และฟิอ็อกกี้ทำกลุ่มดีใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ทดสอบท่านอื่นๆทำกลุ่ม 5 นัดได้ดีถึงดีมาก ตำแหน่งกลุ่มบนเป้ามีแตกต่างกันบ้าง ตามสายตาและการเล็งของแต่ละคน แต่ถึงอย่างไร ปืนสมิธฯ 5906 M ก็แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำและปฏิบัติการเรียบร้อยดี ตามวัตถุประสงค์ที่ปรับปรุงขึ้นมา ส่วนความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสมบุกสมบัน ก็คงต้องไปพิสูจน์กันในภาคสนาม ห้างฯ ปืนแสงทอง เลขที่ 37 ถนนบูรพา กทม. 10200 โทร. 221-7808, 225-2428 ส่งเข้ามาทดสอบครับ.
นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 318 เมษายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com