เบเร็ตต้า ซีรีส์ 92 คอมแบ็ท 9 มม.
ปืนสั้นออโตลูกดก ขนาด 9 มม. ออกแบบมาให้ใช้ยิงแข่ง "แพร็กทิคัล ชูตติ้ง"

แหล่งผลิตปืนสั้นออโตเพื่อป้อน ตลาดโลกมาจากแหล่งผลิตใหญ่ๆ จาก 2 ทวีป คือ ทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา แต่ต่อมาในปัจจุบันแหล่งผลิตในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ก็เริ่มสั่งสินค้าประเภทนี้เข้าสู่ตลาดโลกกันบ้างแล้ว ดังจะเห็นว่ามีปืนสั้น ออโตยี่ห้อใหม่เข้ามาขายในตลาดปืนเมืองไทยกันประปราย อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตปืนสั้นออโตขนาดใหญ่ดั้งเดิมจริงๆ ก็ต้องยกให้ทางทวีปยุโรป โดยเฉพาะทางแถบตะวันตกของยุโรป มีประเทศผู้ผลิตอาวุธปืนชั้นนำอยู่มากมายหลายประเทศ อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่รวมอยู่ในประเทศเหล่านี้ และปืนสั้นออโตที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ยี่ห้อหนึ่งของอิตาลี คือ เบเร็ตต้า ความจริงถึงไม่บอกชื่อยี่ห้อนี้ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีนักนิยมปืนท่านใดเดาผิดหรอกครับ

ในยุคก่อนๆ ปืนสั้นออโตของเบเร็ตต้ามีอยู่มากมายหลายรุ่น ใช้กระสุนหลายขนาด ตั้งแต่ขนาด .22 ขึ้นมาจนถึง 9 มม. เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของปืนสั้นออโตของเบเร็ตต้าส่วนมากก็คือ สันบนลำเลื่อนเปิดโล่งเกือบตลอด เหลือไว้ด้านหน้าพอให้ติดศูนย์หน้าได้ และด้านหลังส่วนที่อยู่เหนือชุดเข็มแทงชนวนเพื่อให้ติดศูนย์หลังยึดขอรั้งปลอกกระสุน และเป็นเรือนของเครื่องลั่นไกเท่านั้นแหละครับ แต่ในปัจจุบันปืนคูการ์ ซีรีส์ 8000 ของเบเร็ตต้าเองก็มีลำเลื่อนเป็นครอบปิดทึบตามปกติธรรมดาแล้วครับ คงมีเฉพาะปืนโมเดลบ็อบแค็ท, ทอมแค็ท ซึ่งใช้กระสุนขนาดไม่เกิน .380 เอซีพี กับโมเดล 92 ซึ่งใช้กระสุน 9 มม. ที่ได้รับความนิยมอย่างเกรียวกราวมาแล้วนั่นแหละครับ

ภาพเต็มตัวด้านซ้ายของเบเร็ตต้า 92 คอมแบ็ท

เบเร็ตต้า เป็นบริษัทผลิตอาวุธปืนที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งที่ผลิตปืนสั้นออโตตาม นโยบายดังที่กล่าวมาแล้ว และมีปืนสั้นออโต โมเดล 92 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพ และสมรรถนะว่าเยี่ยมยอด เนื่องจากเหมาะสมสำหรับใช้งานด้านการทหาร กิจการตำรวจ และการต่อสู้ป้องกันตัวของประชาชนทั่วไป แต่เมื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ยิงแข่งขันในระบบ "แพร็กทิคัล ชู้ตติ้ง" หรือ แอ๊คชั่น ชู้ตติ้งก็จำเป็นต้องปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเป็นโมเดล 92 สต๊อก และโมเดล 92 คอมแบ็ท เพื่อให้ได้มาตรฐานตามการแข่งขันยิงปืน ประเภทไอพีเอสซี โดยพัฒนามาจากโมเดล 92 เอฟเอส, 98 เอฟเอส หรือโมเดล 96 แล้ว แต่ว่าจะใช้กระสุนขนาดไหน แต่โมเดล 92 หรือซีรีส์ 92 นั้น ใช้กระสุน 9 มม. ครับ เบเร็ตต้า โมเดล 92 เอฟเอส เป็นปืนโครงมาตรฐาน ขนาด 9 มม. ที่นักนิยม ปืนมือใหม่และมือเก่าบ้านเรารู้จักกันดีแล้ว แต่ปืนในซีรีส์ 92 สำหรับยิงแข่งไอพีเอสซี อาจจะมีหลายท่านที่ยังไม่เคยเห็นตัวจริง โดยรวมแล้วก็ดูเหมือนๆกับโมเดล 92 เอฟเอส นั่นแหละครับ แต่โมเดล 92 สต๊อก มีบูชลำกล้องถอดได้ เพราะขันเกลียวยึดไว้กับปลาย ลำกล้องเพื่อเสริมความแม่นยำสำหรับยิงแข่งในประเภท "สต๊อกกัน" ส่วนโมเดล 92 คอมแบ็ทนั้น นอกจากจะมีบูชลำกล้องแบบโมเดล 92 สต๊อกแล้วยังมีแท่งเหวทสวมติดไว้แบบคอมเพ็นเซเตอร์อีกด้วย เพียงแต่ไม่ได้เจาะพอร์ท หรือทำห้องดักแก๊สไว้เท่านั้นเอง จึงจัดว่าเป็น ปืนใช้ยิงแข่งประเภท "โอเพ่น" ขณะที่โมเดล 92 สต๊อกใช้ยิงแข่งประเภท "สแตนดาร์ด" หรือมาตรฐานของปืนโรงงานตามปกตินั่นเอง

ภาพเต็มตัวด้านขวาของเบเร็ตต้า 92 คอมแบ็ท

นักนิยมปืนไม่ว่าจะเป็นท่านใดก็ตาม เมื่อมองเห็นปืนสั้นออโตเบเร็ตต้า 92 คอมแบ็ท ก็พอจะบอกได้เลยว่า มันเป็นปืนยิงแข่งขันในระบบต่อสู้เต็มตัว เพราะมันมีลำกล้องยาวและหัวโตเห็นได้ชัด (ความจริง น่าจะเรียกว่า "ปากยาว" เสียมากกว่า แต่ความหมายอาจจะเปลี่ยนไปนะครับ) แต่ที่แน่ๆ ใช้ยิงแข่งปืนสั้นชาวบ้านไม่ได้ครับ ส่วนจะใช้ป้องกันตัวนั้นสบายมาก กลับดีเสียอีกสำหรับท่านใดจะพกพาติดตัว ก็ไม่มีใครว่าอะไร นอกจากอมยิ้มให้กับความสามารถของท่านที่ทนต่อความเกะกะเก้งก้างของมันได้ ไม่ต้องดูอะไรอื่นไกล แค่กล่องพลาสติกอย่างดี มีกุญแจล็อกใช้รหัสที่โรงงงานบรรจุปืนให้มา ก็เป็นกล่องขนาด "จัมโบ้" แล้วครับ เบเร็ตต้า

โมเดล 92 คอมแบ็ท แลเผินๆ ก็ไม่ต่างกับโมเดล 92 เอฟเอส อันเป็นรุ่นมาตรฐานของโมเดลนี้ แต่ถ้า พิจารณาดูสักนิดก็จะเห็นว่าเหมือนโมเดล 92 บริกาเดียร์มาก ครั้นพอเพ่งพิศกันละเอียด ก็มีส่วนแตกต่างออกไปพอสมควร เริ่มจากที่มองเห็นง่ายๆเสียก่อนครับ

ชิ้นส่วนหลักๆ ที่เจ้าของปืนควรถอด ทำความสะอาดหลังยิงทุกครั้ง

ส่วนแรกก็คือ ลำกล้องยาวกว่าปกติ เพราะยาวถึง 5.9 นิ้ว พร้อมกับแท่งเหวท ถ่วงที่ปลายลำกล้องซึ่งเอ่ยถึงมาก่อนแล้ว เลยทำให้ต้องทำบูชลำกล้องแบบถอดได้ คันนิรภัยหัวแม่มือย้ายจากบนลำเลื่อนมาอยู่ที่โครงปืนดูคล้ายปืน 1911 พอสมควร และมีให้ทั้งสองข้างด้วย ศูนย์ปืนมีศูนย์หลังปรับได้ ดูคล้ายของโบ-มาร์ แต่เป็นของเบเร็ตต้าเองครับ ไกปืนต่างออกไปจากเดิม มีรูปร่าง เหมือนไกปืนพารา-ออร์ดแนนซ์แบบดับเบิลแอ๊คชั่นมาก ไม่ทราบว่าใครลอกเลียนจากใคร แต่ถ้าจะให้เครดิตทั้งสองยี่ห้อ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราต่างคนต่างคิดทำอะไรสักอย่าง แล้วบังเอิญมาตรงกันพอดี ก็มีอยู่เหมือนกันครับ และก็ไม่แปลกอีกเหมือนกัน ที่ไกของเบเร็ตต้า 92 คอมแบ็ทอยู่ห่างโครงปืน เหมือนไกแบบดับเบิลแอ๊คชั่น ทั้งๆที่ระบบไก เป็นแบบซิงเกิลแอ๊คชั่นอย่างเดียวเท่านั้น เพราะบราวนิง ไฮ-เพาเวอร์ก็มีไกแบบนี้มา ก่อนแล้วยังคงเป็นแบบนั้นจนถึงทุกวันนี้

อีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นการปรับปรุงที่ดีมากคือสันหน้าและหลังด้ามแกะลายเม็ด ละเอียดในส่วนที่ต้องสัมผัสกับฝ่ามือและนิ้วมือ เฉพาะที่สัมผัสแนบแน่นกับโครงปืนจริงๆ ส่วนหลังด้ามที่ต้องสัมผัสกับง่ามมือ นอกจากจะไม่แกะลายแล้ว ยังทำเว้าเข้าไปมากกว่า เดิมอีกนิด นับว่าผู้ออกแบบปรับปรุงเข้าใจหลักเออโกโนมิกส์อย่างแท้จริง เพราะนักยิงปืนผู้ชำนาญจะไม่จับปืนให้ง่ามมือกดแน่นกับหลังด้าม โดยเฉพาะยิงปืนที่ใช้กระสุนขนาดแม็กนั่ม เท็จจริงอย่างไร ลองสอบถามกันเอาเองนะครับ นอกจากนี้ ส่วนอื่นๆที่พอจะมองเห็นได้ง่ายว่าต่างออกไป จากเดิมก็คือร่องจับกันลื่นด้านข้างลำเลื่อน มีทั้งด้านหน้าและหลัง เซาะร่องเอนไปข้างหน้า ขนานกับมุมโครงด้าม ลักษณะนี้อาจกลายเป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตก็ได้ และอีกจุดหนึ่งก็เห็นจะเป็นปุ่มปลดแม็กกาซีนขนาด เขื่องใหญ่กว่าเดิมพอสมควร และปรับเปลี่ยนให้ผู้ถนัดซ้ายใช้สะดวก เพราะย้ายไปไว้ทางขวามือได้ไม่ยาก ส่วนแก้มประกับด้ามทำค่อนข้างบางเป็นพิเศษ ซึ่งพอจะชดเชยกับความอวบของด้ามจับในปืนลูกดกได้อยู่บ้าง ส่วนอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึงก็หมายความว่าไม่มีอะไรแตกต่างไปจากรุ่นมาตรฐานที่ทุกท่าน รู้จักกันดี ผู้เขียนไม่อยากจะเอ่ยซ้ำอีก แต่ยังอดเห็นใจผู้ที่เพิ่งสนใจเรื่องอาวุธปืนใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ เพราะผู้เขียนยังไม่ลืมความรู้สึกของตัวเองตอนที่สนใจเล่นปืนใหม่ๆ (ความจริง ได้จับต้องแต่ปืนเก่าๆ คร่ำคร่าเสียมากกว่า) มาก่อนครับ

ผู้เขียนคือ ดร.เทียนชัย ยิงทดสอบมที่ระยะ 15 เมตร เป้าจากซ้ายไปขวา ยิงด้วยกระสุนจีเอฟแอล บุลเล็ทมาสเตอร์ วินเชสเตอร์ และเรมิงตัน

เมื่อจับปืนขึ้นเล็งดูรู้สึกลายเม็ดกันลื่น ที่บรรจงแกะไว้ที่หน้าและหลังด้ามกระชับเข้ากับมือดีมาก และไม่รู้สึกเจ็บฝ่ามือเลย ขนาดด้ามจับเองก็ล้นมือค่อนข้างเล็กของผู้เขียนไป ไม่มากเหมือนกับที่สัมผัสรุ่นอื่น จึงรู้สึกจับถนัดมากพอใช้ครับ ศูนย์ปืนเล็งได้ชัดเจนดีมาก สำหรับการยิงต่อสู้และยิงเร็ว แต่ไม่เหมาะสำหรับยิงเป้าแบบละเอียดประณีตนักเพราะ ร่องบากศูนย์หลังค่อนข้างกว้าง มีช่องว่างระหว่างขอบใบศูนย์หน้าและขอบด้านในร่อง บากศูนย์หลังค่อนข้างกว้าง ซึ่งโรงงานติดตั้งมาให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์อย่างดีแล้วครับ น้ำหนักไกแบบซิงเกิลแอ๊คชั่นจากโรงงาน กำลังดีครับ เพราะวัดได้ราว 4 1/4 ปอนด์ ส่วนการดึงลำเลื่อนถอยหลังต้องออกแรง พอสมควรในจังหวะแรก พอลำเลื่อนขยับตัวได้ ก็ลื่นคล่องตัวดี รู้สึกสปริงลำเลื่อนจะค่อนข้าง แข็ง เพราะเตรียมไว้รับมือกับ "ลูกเมเจอร์" นั่นเองครับ สำหรับผู้เขียนเองจับร่องกันลื่น ข้างหน้าดันลำเลื่อนถอยหลังขึ้นลำป้อน กระสุนเข้ารังเพลิงรู้สึกสะดวกมากกว่า

จากซ้าย คุณบัณฑุ ดร.ผณิศวร พ.ท.สุพินท์ และคุณหมอจันทร์ ยิงทดสอบในระยะเดียวกัน

การยิงทดสอบกันจริงๆ ยืนยิงที่ระยะ 15 เมตรตามปกติ หลายท่านทราบแล้วอาจ หัวเราะหึๆอยู่ในใจว่า ปืนลำกล้องยาวตั้ง เกือบ 6 นิ้ว แถมติดเหวทถ่วงน้ำหนักเข้าไปอีก จะไม่เอาเปรียบกันไปหน่อยหรือ? ผู้เขียนเองชักหวั่นๆว่าจะหน้าแตกมากกว่าจะคิดว่า ได้เปรียบเสียอีกครับ เพราะศูนย์ปืนเขาไม่ได้ทำมาให้ใช้ปั้นเอ๊กซ์ แล้วเรามาปั้นเอ๊กซ์ เกรงว่าจะเป็นการสานกระด้งเสียมากกว่า แล้วในบรรดาผู้อยู่ในทีมทดสอบก็ไม่เห็นมีท่านใด ยิงไอพีเอสซีเป็นล่ำเป็นสันกันสักคน แต่พอยิงทดสอบผ่านไปด้วยกระสุนหลายชนิด ผู้เขียนรู้สึกโล่งใจไปมาก เพราะมีหลายท่านยิงทำกลุ่มดีมาก แต่ครั้งนี้แปลกไปจากการทดสอบครั้งอื่นๆ ตรงที่ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้ยิงกับชนิดกระสุนครับ เหตุผลก็คงจะเป็นว่า แต่ละท่านมีความถนัดต่อศูนย์ปืนใช้ยิงต่อสู้ ชนิดแข่งกับเวลาไม่เท่ากันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ตัวปืนเองทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ไม่มีติดขัดเลย ไม่ว่าในลักษณะไหน เว้นแต่กระสุนแรงอ่อนหน่อย ก็ดีดปลอกตกลงใกล้ๆตัว คันบังคับต่างๆใช้งานสะดวกดีมากครับ โดยเฉพาะคันนิรภัยหัวแม่มือกับปุ่มปลดแม็กกาซีน ใช้ปืนออโตแบบ 1911 มาสะดวกอย่างไร เบเร็ตต้า 92 คอมแบ็ท ก็สะดวกอย่างนั้นครับ

การถอดประกอบก็ไม่ต่างกับเบเร็ตต้า ซีรีส์ 92 รุ่นอื่นๆ แต่ก็ไม่เหมือนเปี๊ยบ เพราะมันไม่เท่ากันเป๊ะ ถ้าคิดจะถอดลำกล้อง ออกจากลำเลื่อนก็ต้องถอดบูชลำกล้องและแท่งเหวทออกก่อน และแนะนำให้ถอดก่อน จะคิดถอดลำเลื่อนออกจากโครงปืน เพราะงานจะง่ายกว่ากันเยอะเลยครับ

ภาพเป้าทดสอบจากซ้ายไปขวา คุณบัณฑุยิงทดสอบด้วยกระสุนเรมิงตัน ชนิดเดียวกับ ดร.ผณิศวร พ.ท.สุพินท์ยิงด้วยฟิอ๊ออกกี้ และท.พ.จันทร์ยิงด้วยบุลเล็ทมาสเตอร์

สรุปแล้ว เบเร็ตต้า โมเดล 92 คอมแบ็ท เหมาะสำหรับใช้ยิงแข่งขันประเภท "แพร็กทิคัล ชู้ตติ้ง" ตามที่ตั้งใจออกแบบ ปรังปรุงขึ้นมา ถึงแม้โครงปืนจะเป็นอะลูมินั่มผสม แต่ก็มีความคงทน แข็งแรงเพียงพอ และไม่ทำให้รู้สึกว่าปืนเบาเกินไป เพราะเพิ่ม น้ำหนักลำเลื่อน และใส่แท่งเหวทชดเชยไว้ ปฏิบัติการเรียบร้อยดี ความแม่นยำสูง หุ่นทรงยังรักษาความมีเสน่ห์เดิมๆไว้หมด ห้างฯ ไกอาร์ม เลขที่ 2/12 ดิโอลด์สยามพลาซ่า ถ.บูรพา กรุงเทพฯ 10200 โทร. 225-8502 และ 225-9870 เป็นผู้ส่งเข้าทดสอบ.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 317 มีนาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com