นาวลิน มิคกี้ ฟาวเลอร์ แอ๊คชั่น เอลีท .45

นับแต่สิทธิบัตรการผลิตปืนแบบ 1911 ขนาด .45 หมดลง กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับแต่งปืน 1911 ให้แม่นยำหรือใช้สำหรับแข่งขันที่มีชื่อเสียงหลายรายก็หันมา ผลิตปืนทั้งกระบอกในชื่อของตนเอง ซึ่งก็รวมทั้งนาวลิน นาวลินนั้นสนับสนุนการแข่ง ประเภทแอ๊คชั่นชู้ตติ้งที่ใช้ปืน 1911 อยู่มาก เนื่องจากทำชิ้นส่วนและปืนชนิดนี้ออกขาย เป็นสปอนเซอร์ให้นักแข่งชื่อดังหลายราย รวมทั้งนายมิคกี้ ฟาวเลอร์นี้ด้วย ซึ่งชื่อเสียงก็ดีมากจนลงลายเซ็นไว้บนด้ามปืนรุ่นนี้ด้วย

ภาพด้านขวาของปืน มีลายเซ็นของมิคกี้ ฟาวเลอร์ ที่ประกับด้าม รูปทรงดูมื่อๆ แฝงศักยภาพของการยิงที่แม่นยำสุดยอดไว้

ลักษณะของปืนนาวลิน มิคกี้ ฟาวเลอร์ แอ๊คชั่น เอลีท เป็นแบบ 1911 ขนาด .45 ตัวเต็มมาตรฐาน นั่นคือลำกล้องยาว 5 นิ้ว ด้ามเต็มบาง แม็กกาซีนแถวเดี่ยวบรรจุ 7 นัดบวกกับในรังเพลิงอีก 1 นัด ที่สไลด์ เซาะร่องกันลื่นไว้ทั้งด้านหลังและด้านหน้า เซฟหลังอ่อนหรือที่เรียกกันว่าบีเวอร์เทลเป็นทรงสูง จัดเส้นสายไว้สวยงามมาก ปกติของบีเวอร์เทลทรงสูงนี้ก็เพื่อให้มือกำปืนสูง ก็คือ ให้แนวลำกล้องต่ำ แต่พาลจะทำให้มือไม่กด บีเวอร์เทลแล้วปืนไม่ลั่นก็ต้องทำปลายส่วนล่างให้นูนขึ้นมาหามือ ซึ่งกระบอกนี้ก็มาตามสูตรครบถ้วน นกสับโปร่งทรงยาวน้ำหนักเบา ช่องเสียบแม็กกาซีนมีปากเสริมผายกว้าง ช่วยให้ใส่แม็กกาซีนได้แน่นอนและเร็ว ส้นแม็กกาซีนมีโพลิเมอร์เสริมกันบุบเวลาถูกปล่อยลงพื้นอย่างเร็ว ลิ้นส่งกระสุนเป็นแบบโค้ง ซึ่งว่ากันว่าส่งกระสุนได้แน่นอนกว่าแบบแบน ทั้งหมดนั่นทำด้วยสเตนเลสส์ ตัวไกเจาะรูลดน้ำหนักทั้งหมดนั้นก็เป็นที่เห็นได้จากภายนอกครบเครื่องการซิ่งปืน 1911

ภาพด้านซ้ายของปืน มีลายเซ็นของมิคกี้ ฟาวเลอร์ เช่นกัน

นอกนั้นแล้ว ก็มีคันปลดสไลด์ที่แกะเช็กเกอร์แทนการเซาะร่องธรรมดา และคันเซฟที่มีส่วนยื่นยาวให้ใช้หัวแม่มือกด หรือยกได้ง่าย นาวลินกระบอกนี้มีการแกะลวดลาย และตัวอักษรเด่นเป็นพิเศษด้วยเลเซอร์ ทางด้านขวาตรงกลางของสไลด์เขียนยี่ห้อนาวลิน ไว้ตัวเขื่อง ส่วนท้ายสไลด์สลักเครื่องหมายสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพช่างปืน ด้านซ้าย ตรงกลางเขียนชื่อรุ่นว่า แอ๊คชั่น เอลีท ส่วนท้ายเป็นเครื่องหมายของนาวลินเป็นรูปอัศวิน เกราะเหล็กขี่ม้าอยู่หลังโล่อัศวิน การเขียนตัวหนังสือและลวดลายทำได้เรียบร้อย เส้นคมชัด ประกอบกับผิวโลหะทุกส่วนทำมาอย่างประณีต ส่วนไหนที่พ่นทรายด้านก็เรียบเท่ากัน เนียนไม่มีที่ติ ส่วนที่ขัดมันก็ตัดกับตัวอักษรหรือลวดลาย อีกส่วนหนึ่งที่มีการเขียน หรือสลักไว้คือลายเซ็นของมิคกี้ ฟาวเลอร์ พร้อมด้วยเป้าโชว์กลุ่มกระสุนอยู่ในวงเอ๊กซ์ทั้งหมด สลักไว้ที่ประกับด้ามที่เป็นไม้ผิวเรียบทั้งสองข้าง เก๋ไปอีกแบบหนึ่ง

ลายเซ็นของมิคกี้ ฟาวเลอร์ และกลุ่มกระสุนที่มิคกี้ถูกใจที่สุด จนเอามาทำโลโก้

กล่องปืนที่ให้มาด้วยทำด้วยโพลิเมอร์ ท่าทางแข็งแรง พิมพ์ชื่อนาวลินเองไว้ด้วยไม่ใช่ พิมพ์ยี่ห้อกล่องเหมือนของบางบริษัทมีประแจขันบูชปากลำกล้องและประแจหกเหลี่ยม สำหรับขันถอดแกนสปริงรีคอยล์ให้มาด้วย

ดูจากอุปกรณ์ที่ติดมาก็บอกได้ว่า ไม่ใช่ ปืนที่ทำไว้สำหรับชักเร็วยิงเร็วเพราะศูนย์เล็ง ทรงสูง แล้วก็ไม่ใช่สำหรับยิงรัวด้วยเพราะมีแค่ 7+1 นัด แต่ว่ามีคุณสมบัติในการเล็งยิงที่แม่นยำเฉียบขาด รูปทรงสวยงาม อวดชาวบ้านเขาได้ไม่เป็นที่สองรองใคร

ชิ้นส่วนปืนถอดออกมาล้างเท่าที่เห็นก็พอ

การถอดประกอบ หลังจากตรวจดู จนแน่ใจแล้วว่าไม่มีกระสุนค้างในรังเพลิง หรือแม็กกาซีนก็เริ่มกระบวนการถอดปืนโดยใช้ประแจหกเหลี่ยมที่ให้มาด้วย ขันแกนสปริง ลำเลื่อนออก จากนั้นก็ใช้ประแจสำหรับไขบูชปากลำกล้อง ซึ่งก็มีให้มาเหมือนกัน ขันตามเข็มนาฬิกาให้พอหลบหลอดหุ้มปลายสปริงลำเลื่อนให้ยื่นออกมาได้ ดึงสไลด์ถอยหลัง มาจนร่องบากอันเล็กด้านหลังมาตรงกับติ่งบนคันค้างสไลด์แล้วดันคันค้างสไลด์ออกมา กระบอกนี้ไม่ต้องใช้อะไรเคาะออก แต่รู้สึกได้ถึงความฟิตแน่นระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ไม่มีอาการขยับขยุกขยิกเลย ไม่ว่าจะเป็นขันแกนสปริงลำเลื่อนหรือไกด์ร็อดออก การหมุนบูชปากลำกล้องทุกชิ้นแน่นไปหมด จนต้องออกแรงกันบ้าง แต่ที่ว่านี้คือไม่ถึงกับต้องออกแรงแยกเขี้ยวบิดกันถึงจะออกนะครับ เมื่อดึงคันค้างสไลด์ออกมาแล้วก็เลื่อนสไลด์ออกมาได้ ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกันที่รู้สึกได้ถึงความฟิตแน่นพอดีระหว่างสไลด์กับโครงปืนไหลออกมาตรงๆ ไม่ขยับซ้ายขวาเอาเลย ใช้ประแจบิดบูชปากลำกล้องทวนเข็มนาฬิกา จนสลักบนตัวบูชตรงกับร่องกลางก็ดึงออกมาข้างหน้าได้ ถอดลำกล้องตามออกมา อย่าลืม ผลักโตงเตงใต้ลำกล้องมาข้างหน้าจะได้ไม่ติดกับช่องไกด์ร็อด การถอดออกมาก็เพื่อทำ ความสะอาดส่วนที่จะสกปรก หรือมีคราบหัวกระสุนติดอยู่ ซึ่งถอดแค่นี้ก็ทำได้สะดวกแล้วครับ ข้อควรระวังคือ เมื่อถอดสไลด์ออกจากโครงปืนแล้วอย่าเหนี่ยวไกให้นกสับ ตกลงมากระแทกโครงปืน มันจะมากระแทกกับแง่คมที่โครงปืนแทนที่จะมีส่วนของสไลด์มารับ ถ้าไม่หักวันนี้ก็เก็บไปร้าวในวันหน้าละครับ การประกอบกลับก็ย้อนทางเดิมไป ซึ่งตอนสอดสไลด์สวมเข้ากับโครงปืนจะระลึกถึงได้อีกครั้งหนึ่งว่าทำมาฟิตขนาดไหน เพราะถ้าจ่อไม่ตรงจ่อไม่พอดีละก็สอดไม่เข้าเอาเลย

คุณบัณฑุ (ผู้เขียน) ยิงทดสอบ กลุ่มกระสุนที่คงเส้นคงวาที่สุด สำหรับผู้ยิงจำนวนมากเช่นนี้ ยกผลประโยชน์ให้กับไกและศูนย์เล็งชั้นยอด

ก่อนจะเริ่มยิงก็ลองดึงสไลด์จะเหนี่ยวไกแห้งลองน้ำหนักไกดู ค่อยๆเริ่มบีบไก เอ๊ะ ! หนักแฮะ บีบไปบีบไปก็ไม่ลั่นสักที ดูเซฟก็ไม่ได้เข้าไว้ นี่มันเกินห้าปอนด์แล้วนา บังเอิญสายตาเหลือบไปเห็นท้ายสไลด์เลย โครงปืนมานิดเดียว อ๋อ ! มันฟิตจนไม่เดินหน้า เข้าที่ล็อก มีเสียงมาจากข้างหลังว่าให้ดันตูด มันเข้าไปเลย ผมก็ทำตามโดยใช้หัวแม่โป้ง ซ้ายดัน กะว่าต้องออกแรงดันพอควรเพราะเคยเจอปืน 1911 อาการนี้มาก่อน แต่ปรากฏ ว่าใช้นิ้วดุนก็ขยับเข้าที่ ลองเหนี่ยวไกดูอีกที ก็ต้องทำปากจู๋เหมือนท่านอื่นๆ ในทีมทดสอบ ที่ลองเหนี่ยวไกแห้ง เพราะว่ามันเบา ลั่นคม ถูกใจมาก ชั่งน้ำหนักไกได้ 2 กับอีกเศษ 3 ส่วน 8 ปอนด์ คือไม่ถึงสองปอนด์ครึ่งดี ต่างก็ถามหากันว่าเมื่อไหร่จะลองยิงกันเสียที ทางนาวลินระบุว่าจะทำไกไว้ 3.5 ปอนด์ แต่กระบอกนี้ออกมาเบากว่า ซึ่งก็ยิ่งถูกใจผมเพราะยิงได้ไม่มีอาการนกตามหรือติดขัดอื่นใดเลย

เมื่อได้ลองยิงก็ไม่ผิดหวัง ผมจับปืนสองมือตามสบาย ปล่อยให้ปืนรีคอยล์ไปเอง บ้างแต่ก็ไม่มีโอกาสหลุดมือแน่เพราะด้ามยาว แกะเช็กเกอร์หน้าด้ามและหลังด้ามถี่ 30 เส้นต่อนิ้ว ทำให้มือเกาะด้ามแน่นดี ไม่ถึงกับระดับตุ๊กแกเกาะผนังแต่ก็รู้สึกดีกว่าพวก 20 เส้นต่อนิ้วชัดเจน ด้ามยาวตรงมีที่จับมากดี และไม่หนาเหมือนพวกแม็กกาซีนสองแถว ซึ่งผมว่ามือใหญ่แล้วก็ยังจับไม่ค่อยสบายมือ กระบอกนี้ด้ามบางจับถนัดสบายมือดี ความจริง ด้านหลังด้ามเป็นเช็กเกอร์อยู่บนห้องสปริงนกสับ กระบอกนี้ใช้แบบตรง คือไม่โค้งโป่ง ออกไปด้านหลังอันนี้แล้วแต่คนชอบครับ

(ซ้าย) น.ท.สุรพล (กลาง) คุณหมอจันทร์ และขวาคือ พ.ท.สุพินท์ ยิงทดสอบด้วย

ผลการยิงจะเห็นได้จากในภาพที่ผมเห็นว่าเป็นกลุ่มกระสุนของผู้ยิงหลายท่านที่ ได้กลุ่มเหมือนกันมากที่สุด ปืนอื่นๆที่ทดสอบผ่านมาจะเห็นได้ว่ามักมีบางท่านยิงกลุ่มแตก ไปจากคนอื่น บางคนยิงกลุ่มแน่น บางคนยิงกลุ่มแตกไปทางโน้นทางนี้ แต่กระบอกนี้ ยิงกลุ่มแน่นเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่าแน่นอนที่ทุกท่านพอใจกับ น้ำหนักไกและการลั่นที่เฉียบคม แต่ส่วนที่สองที่ปืนจะสัมผัสกับผู้ยิงก็คือศูนย์เล็ง ซึ่งกระบอกนี้เป็นแบบโบมาร์ ศูนย์ทั้งหน้าและหลังอยู่สูง ด้านหลังเซาะร่องกันแสงสะท้อน การตัดมุมทำบากศูนย์หลังและศูนย์หน้าต้องให้คมจริงๆ เพื่อให้ตาของผู้เล็งเห็นภาพที่คมชัด เท่าที่จะเป็นได้ ถ้าเริ่มด้วยศูนย์ที่ทำมุมมนมาแต่แรกเวลาเล็งก็จะยิ่งเลือนไปกันใหญ่ เรื่องศูนย์เล็งนี่เขียนเป็นตำราเล่มเขื่องได้เลยครับ สำหรับนาวลิน แอ๊คชั่น เอลีท กระบอกนี้ ผมอยากสรุปว่าทั้งไกทั้งศูนย์เล็งทำหน้าที่ของมันได้ดีเยี่ยม ในการเล็งต้องมีความสัมพันธ์ ระหว่างสายตาและนิ้วมือที่ดี บางทีเหนี่ยวไม่ดี แต่ก็ยังรู้ได้ว่าไปทางไหน กระบอกนี้บอกได้เลย ว่าตอนลั่นไกกลุ่มกระสุนจะตกบริเวณใด ไม่เคยให้ต้องสงสัยว่าทำไมนัดนี้ถึงได้เบนไปทางนี้

ส่วนความแม่นยำของปืนนั้นก็มาได้จาก อีกส่วนหนึ่งก็คือตัวปืนเอง ตำราซิ่งปืน 1911 ที่ผมใช้อยู่ระบุว่าความแม่นยำของปืนจำพวก 1911 นั้นได้มาจากการทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ นิ่งที่สุด หมายความว่าชิ้นส่วนไหนออกแบบ ให้เคลื่อนที่วิ่งไปทางไหนก็ต้องวิ่งให้ตรงให้พอดี กับที่ออกแบบไว้ เวลาดีดกลับเข้าที่ก็ต้องเข้าที่เดิมไม่เฉไฉไปที่อื่น โดยเฉพาะแนว ลำกล้องที่เมื่อล็อกเข้าที่แล้วก็ควรอยู่ที่เดิมทุกครั้งเพื่อที่จะอยู่ตรงกับแนวศูนย์เล็ง แต่ในโลกของความเป็นจริงก็คงจะทำให้มันฟิตแน่นขนาดนั้นไม่ได้ เพราะนอกจากมันจะขยับไม่ได้เอาเลยแล้วมนุษย์เราทำของอะไรขึ้นมานั้น จะให้เท่ากันสมบูรณ์แบบทุกชิ้นคงจะไม่ได้ดีที่สุด ก็คือการปรับแต่งชิ้นส่วนให้ใกล้เคียงกันมาก ที่สุดโดยยังทำงานได้ตามปกติ ซึ่งในตัวอย่างของเรากระบอกนี้ก็ทำได้เกือบสมบูรณ์ อาการสไลด์ฝืดนิดเดียวนั้น พอยิงทดสอบไปสิบกว่านัดก็หายไป กลายเป็นปืนที่ยิงแม่นยำไม่มีปัญหาที่สุดกระบอกหนึ่งที่เคยยิง

กลุ่มกระสุนของ น.ท.สุรพล (ซ้าย), คุณหมอจันทร์ (กลาง) และ พ.ท.สุพินท์ (ขวา)

ในตำราซิ่งปืนประมาณไว้ว่าความแม่นยำของปืน 1911 นั้น 60% ได้มาจากการฟิตปากลำกล้องกับบุชชิ่ง, ฟิตท้ายรังเพลิงกับสไลด์ และการฟิตสลักล็อกลำกล้องกับสไลด์ ปืนที่ทำสามส่วนนี้ให้ดีก็น่าจะยิงได้ดีมากแล้ว ในขณะที่การทำสไลด์ให้ฟิตกับโครงนั้นช่วยในความแม่นยำ 15% นั่นว่ากัน ในส่วนของกลไกปืนเองนะครับในส่วนสำหรับองค์ประกอบที่ช่วยผู้ยิงให้ยิงแม่นนั้น 50% ได้มาจากการมีไกที่ดี และ 25% ได้มาจากศูนย์เล็งที่ดี ดูจากคุณลักษณะและผลการยิงของปืนกระบอกนี้ก็พอจะเห็นว่านาวลิน ก็คงจะมีสูตรการซิ่งปืน 1911 ที่ไม่แตกต่างกัน นาวลินกระบอกนี้มีร่องรอยของการปรับแต่งให้เห็นได้ในชิ้นส่วนทุกชิ้น นั่นก็คือ หมายเลขประจำชิ้นส่วนที่ทำไว้ให้ฟิตเข้ากันพอดี มีเลขเขียนไว้ที่ปลอกบุชชิ่งกับสไลด์ และที่สไลด์กับโครงปืน

อีกอย่างหนึ่งที่ตำราสอนไว้ก็คือให้หัดดูปลอกกระสุนที่ยิงแล้ว มันจะบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ดูรอยเข็มแทงชนวนบนจอกแก๊ป ก็อาจเห็นได้ว่าระยะเข็มฯเป็นอย่างไร สปริงอ่อนจนมีรอยลาก หรือกระทบไม่ตรงกลาง ดูรอยขอรั้งปลอกก็บอกอาการบางอย่างได้ รอยตัวเตะปลอกบนจานท้ายก็ทำให้เราเลือกสปริงรีคอยล์ที่ถูกต้องได้ มีรอยไหม้ที่ปลอกกระสุนด้านไหน ปากปลอกกระสุนบุบเพราะกระแทกกับช่องคายปลอกหรือไม่ ทิศทางและระยะที่ดีดจิปาถะที่ปลอกกระสุนจะบอกเราได้ครับ ผมดูปลอกกระสุน ที่ยิงจากนาวลินกระบอกนี้แล้วก็ไม่เห็นอาการผิดปกติใดๆ แม้แต่น้อย ลองหัดดูกันบ้างนะครับ มีข้อควรระวังอย่างเดียวคือ ก่อนจะหยิบปลอกกระสุนที่ยิงแล้วมาดูก็ให้นับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน ไม่ใช่ให้ตั้งสติใจเย็นอะไรหรอกครับ ปลอกยิงมาใหม่ๆนี่ร้อน เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ใครที่เคยโดนมันดีดเข้าเสื้อคงเข้าใจดี ผมเคยโดนปลอก .22 ดีด เข้าแว่นตารอยแผลเป็นยังมีอยู่จนทุกวันนี้

(ซ้าย) อาจารย์วีระ (กลาง) ดร.ผณิศวร และขวาคือ ดร.เทียนชัย ยิงทดสอบด้วย

นาวลินระบุว่าปืนทุกกระบอกของเขาที่ผลิตออกขายจะรับประกันกลุ่มกระสุน 2 นิ้วครึ่งที่ระยะ 25 หลา แต่สำหรับรุ่นมิคกี้ ฟาวเลอร์ แอ๊คชั่น เอลีท นี้ทำเป็นพิเศษถึงขนาดรับประกันกลุ่มกระสุน 1 นิ้ว ที่ระยะ 25 หลา ซึ่งปืนแต่ละกระบอกที่ส่งมาก็มีใบทดสอบกลุ่มกระสุนของตัวเองมาด้วย ไม่ต้องเลือกหรอกครับว่ากระบอกไหนดีกว่ากัน เพราะกลุ่ม 1 นิ้วนี่ก็ไม่รู้จะดูให้ต่างกันอย่างไรได้ ความประณีตเรียบร้อยของการทำผิวโลหะก็สุดยอด เหลือก็แต่เลือกลายไม้บนประกับด้ามเอาก็แล้วกัน

กลุ่มกระสุนของ อ.วีระ (ซ้าย), ดร.ผณิศวร (กลาง) และ ดร.เทียนชัย (ขวา)

นับว่าเป็นบุญมือของผมอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสและยิงนาวลิน มิคกี้ ฟาวเลอร์ แอ๊คชั่น เอลีทกระบอกนี้ ได้ชมความประณีตของการทำชิ้นส่วนเรียบร้อยอย่างไม่มีที่ติ ได้รู้สึกถึงผลของการปรับแต่งปืน 1911 ชั้น สุดยอดว่าส่งผลในการยิงเป็นอย่างไร สัดส่วนรูปทรงก็เป็น 1911 คลาสสิกที่นิยมชมชอบมานาน กระบอกนี้ห้างฯ ปืนเทเวศร์ โทร. 222-7537 เป็นผู้สั่งเข้ามา ราคาคงจะเป็นเลขหกหลักต้องถามไปที่ร้านเองนะครับ.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 317 มีนาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com