ชาร์ล ดาลี เอ็ม 1911 A1
11 มม. ชั้นดีจากฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะอยู่ทางตะวันออกของประเทศไทย ถัดเวียดนาม ออกไปทางทะเลจีนใต้ห่างจากบ้านเราประมาณสองพันกิโลเมตร ฟิลิปปินส์มีส่วน สัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์กับประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ก็คืออยู่ในเส้นรุ้งใกล้เคียงกัน แต่น่าแปลกที่คนไทยกับคนฟิลิปปินส์มีหน้าตาท่าทางเหมือนกันอย่างน่าประหลาด ผมเคยไปติดต่องานที่ฟิลิปปินส์ 3 อาทิตย์ ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นถ้าไม่เอ่ยปากพูดอะไร ออกมาชาวฟิลิปปินส์จะไม่ทราบเลยว่าเป็นคนต่างชาติ เวลาไปทานอาหารหรือไป ซื้อของถ้าคนขายเป็นฝ่ายพูดกับเราก่อน เขาจะใช้ภาษาตากาล็อก พอเห็นท่าจะคุยกัน ไม่รู้เรื่องถึงจะเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษแทน

ชาร์ล ดาลี โมเดล 1911 A1

คนฟิลิปปินส์ก็ชอบเล่นปืนเหมือนกับคนไทย แต่ดูๆแล้วทางฝ่ายบ้านเมืองของเขา ออกจะควบคุมเรื่องปืนน้อยกว่าบ้านเราพอสมควร ผมไปเดินดูในร้านปืนของเขาเห็น มีอุปกรณ์อัดกระสุนอย่างเช่นปลอกกระสุน, หัวกระสุน กับไพรเมอร์แบบที่ใช้กับกระสุนปืนสั้นวางขายอยู่มากพอสมควร แต่ไม่ยักมีดินส่งกระสุนแล้วพอดูชั้นล่างสุดก็เห็นมีขวดน้ำมันเครื่องวางแอบๆอยู่หลายขวด ลองแกล้งถามว่าทำไมถึงเอาน้ำมันเครื่องมาขายในร้านปืน แล้วน้ำมันเครื่องยี่ห้อนี้ชาร์จ (ให้พลังงาน) กระสุนปืนได้หรือเปล่า คนขายก็หัวเราะชอบใจ ตอนหลังถึงได้ความว่าทางการ ฟิลิปปินส์เขาถือว่าดินส่งกระสุนเป็นวัตถุระเบิดประเภทหนึ่ง ต้องมีการเก็บรักษาเข้มงวดเป็นพิเศษก็เลยเอามาวางขายประเจิดประเจ้อไม่ได้

ศูนย์หน้าแบบเข้าลิ่ม ตอนหน้าสไลด์ มีเช็กเกอร์ฝีมือประณีตเรียบร้อย ศูนย์หลังแบบศูนย์ตาย ปรับซ้ายขวา ด้วยการเคาะเลื่อนช่องคายปลอก เปิดกว้างพอสมควร

ร้านปืนฟิลิปปินส์ยังมีอุปกรณ์แต่งปืน M1911 วางขายอยู่มากมายเหมือนกับร้านปืนบ้านเรา แต่ที่เหนือกว่าของเราก็คืออุปกรณ์หลายชิ้นของเขาเป็นของที่ผลิตภายในประเทศ ผมลองซื้อคอมพ์แบบ 3 ห้องมาชุดหนึ่ง คิดราคาเป็นเงินไทยไม่ถึงสี่พันบาท ได้ทั้ง คอมพ์, ไกด์ร็อด กับรีเวอร์ สปลั๊กเรียบร้อย เป็นของติดยี่ห้อของเขาเองด้วยนะครับ ไม่ใช่ของทำเลียนแบบแบรนด์เนมอื่น แถมระบุชื่อช่างคนที่ทำพร้อมกับหมายเลขโทรศัพท์ที่จะให้โทรมาถามได้เวลามีปัญหา ที่สำคัญก็คือเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุรหัสทางไกลระหว่างประเทศเสียด้วย แสดงว่า "พี่ปินส์" แกทำเป็นสินค้าส่งออกไปเรียบร้อยแล้ว

อุตสาหกรรมปืนเถื่อนของฟิลิปปินส์มีมานานพอๆกับคอลท์ตราควายของบ้านเรา ต่างกันที่ของบ้านเราช่างปืนถูกกดดันอย่างหนัก ปราบปรามทางตรงไม่ได้ผลก็หันมาปราบทางอ้อม โดยบังคับให้หันมาทำมีดแทนปืนเถื่อน แต่ของฟิลิปปินส์เขากลับทำให้กลายเป็นโรงงานทำปืนที่ถูกกฎหมาย ผลิตปืนกับกระสุนปืนออกมาเป็นสินค้าส่งออกหาเงินเข้าประเทศ

ใช้ยี่ห้อเป็นโลโก้ ดูเรียบๆดี คันค้างสไลด์กับห้ามไก เป็นแบบหางยาวทั้งคู่

ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณสามสิบปีมาแล้ว ตอนที่เริ่มเล่นปืนใหม่ๆ เคยมีร้านปืนบ้านเรา เอาปืนลูกกรดของฟิลิปปินส์เข้ามาขาย หลังจากนั้นก็เงียบหายไปนานทีเดียว แต่เมื่อเปิดหนังสือกันส์ไดเจสต์ดูก็พบว่า ฟิลิปปินส์ยังคงส่งปืนไปขายในอเมริกาอย่างต่อเนื่องกันตลอดมา ปืนที่ฟิลิปปินส์ถนัดก็คือ ปืนลูกกรดและปืนในตระกูล M1911 โดยมีการทำส่งไปขายทั้งที่เป็นยี่ห้อของตัวเองแล้ว ก็ติดยี่ห้อตามที่ผู้นำเข้าในอเมริกากำหนด

สำหรับปืนยี่ห้อ ชาร์ล ดาลี (Charles Daly) อาจจะฟังไม่คุ้นหูเท่าใดนัก เพราะตามปกติแล้วบริษัท K.B.I. จะเอาดีทางด้านสั่งปืน ลูกซองชั้นดีเข้าไปขายในอเมริกาในยี่ห้อชาร์ล ดาลี ถ้าถามว่าเป็นปืนชั้นดีขนาดไหนก็คงต้องย้อนถามกลับว่าเคยเดินดูปืนบนดิโอลด์สยามไหมครับ มีร้านปืนร้านหนึ่งแขวนป้ายไว้หน้าร้านยกย่องปืนลูกซองออโตห้านัด ระบบรีคอยล์ของบราวนิงว่าเป็นปืนที่ดีที่สุดในโลก เรื่องที่ว่าดีที่สุดในโลกนั้นคงมีส่วนจริงอยู่พอสมควร เพราะปืนลูกซองระบบรีคอยล์ สมัยนี้มีหลงเหลืออยู่เพียงสองสามยี่ห้อแล้ว ก็ลอกแบบไปจากบราวนิงด้วยกันทั้งนั้น ปืนลูกซองห้านัดรุ่นที่ว่านี้ในระยะหลังเบลเยี่ยมได้ไปจ้างญี่ปุ่นทำส่งให้เสร็จ แล้วญี่ปุ่นก็เลยถือโอกาสก็อปปี้แบบมาออกขายในยี่ห้อของตัวเอง แถมยังติดยี่ห้อ ชาร์ล ดาลี ส่งมาให้ K.B.I. ขายอีกต่างหาก

นกปืนหน้าตาใช้ได้ หางยาว ง้างนกลดนกได้ถนัดดี แล้วยังเจาะคว้านลดน้ำหนัก ไม่ให้มี โมเมนตั้มมาก จนฟาดปืนสะเทือนไปทั้ง กระบอก หลังอ่อนกว้าง เมนสปริงเฮ้าซิ่ง แบบตัดตรง ซิ่งมาเรียบร้อย ไม่ต้องเสียเงินหามาเปลี่ยน ช่องเสียบซองกระสุนผาย ลบมุมมาให้เรียบร้อยแล้ว ฐานซองกระสุนเจาะรูพร้อม ที่จะติดยางได้เลย ช่องการถอดปืนเพื่อทำความสะอาด ก่อนอื่นให้ ทำตามขั้นตอนปกติ โดยปลดซองกระสุน เคลียร์รังเพลิงไม่ให้มีกระสุนค้างอยู่ ต่อจากนั้น ก็ทำแบบเดียวกับ M1911 ทั่วไป โดยการกดครอบสปริง แล้วบิดบูชตามเข็ม นาฬิกาไปจนสุด เพื่อปล่อยให้รีคอยล์สปริง คลายตัวออกมา ก่อนทำงานกับสปริงตัวโตๆ สวมแว่นตาป้องกันเอาไว้ก็ดี

นอกจากปืนลูกซองออโตแล้ว K.B.I. ยังสั่งทำปืนลูกซองแฝดชั้นดีจากญี่ปุ่น, อิตาลี, เบลเยี่ยม และเยอรมันเข้าไปขายในอเมริกา ในยี่ห้อ ชาร์ล ดาลี แต่ที่บ้านเราไม่เคยสั่ง ปืนลูกซองชาร์ล ดาลี เข้ามาขายก็เพราะว่าร้านปืนของเรามักจะสั่งโดยตรงมาจากโรงงานผู้ผลิตมากกว่า

K.B.I. หันมาจับปืนสั้น M1911 สำหรับตลาดล่างโดยการสั่งปืนจากฟิลิปปินส์เข้ามาขายในยี่ห้อ ชาร์ล ดาลี โดยตั้งราคาไว้ในช่วง 450 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปืนในระดับเดียวกันที่เป็นของโคลท์, สปริงฟิลด์ หรือ คิมเบอร์จะขายอยู่ในช่วง 700-850 เหรียญ

ดังนั้น ชาร์ล ดาลี กระบอกนี้จึงเป็นปืนที่ไกอาร์มสั่งมาจากอเมริกา ดูๆแล้วเซ็งเหมือนกันนะครับ ปืนทำจากฟิลิปปินส์ใกล้ๆ บ้านเรานี้เอง แต่กว่าเราจะได้ยิงก็ต้องให้ปืนเดินทางเกือบจะรอบโลกเสียก่อน ถ้ายังไงๆ ไกอาร์มจะเอาดีทางปืนฟิลิปปินส์ก็น่าจะลองติดต่อสั่งโดยตรงจากฟิลิปปินส์ อาจจะทำให้ตั้งราคาขายได้ต่ำกว่านี้ บอกกันตามตรงว่า ผมอยากจะให้ลองสั่งมาขายจริงๆ ลงยี่ห้อให้ชัดๆเลยว่ามาจากฟิลิปปินส์ เผื่อว่าทางการเราจะได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกิโลละแสนเสียที ผมไม่ได้พูดเกินไปนะครับปืนหนักครึ่งโลกว่าๆ ราคาหกหมื่นกว่าบาทก็ตกกิโลละแสน แต่รถปิคอัพคันละสี่แสนห้าหนัก 1,200 กก. ตกกิโลละสามร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง

ดึงสไลด์ถอยหลังมาจนรอยบากรูปเล็บมือที่สไลด์ มาอยู่ในตำแหน่งนี้ เพื่อที่จะได้ปลดคันค้างสไลด์ออกมาจากตัวปืนได้

ชาร์ล ดาลี กระบอกนี้เป็น M1911 ที่ตกแต่งหรือซิ่งมาแล้วจากโรงงาน สไลด์ฟิตกับโครงปืนอยู่ในเกณฑ์ที่แน่นพอสมควร คือ ฟิตกว่าโคลท์แต่ยังหลวมกว่าคิมเบอร์ บ่อแม็กฯ ลบมุมเปิดให้สอดซองกระสุนได้สะดวกขึ้น คันค้างสไลด์เป็นแบบหางยาวรับกับคันห้ามไก เมนสปริงเฮ้าซิ่งแบบตัดตรงหลังอ่อนขนาดใหญ่ช่วยให้จับปืนได้ถนัดขึ้น

นกปืนของ ชาร์ล ดาลี กระบอกนี้เป็นแบบห่วงยาวเจาะคว้านลดน้ำหนัก สำหรับนกปืนหางยาวแบบมาตรฐานของโคลท์มักจะเกี่ยวเสื้อผ้า และถ้าเป็นนกแบบห่วงกลมแบบของโคลท์คอมมานเดอร์ก็ออกจะสั้นเกินไป ง้างนกหรือลดนกไม่ถนัดเท่าไหร่ ดังนั้น นกปืนแบบห่วงยาวจึงเป็นทางออกที่ดีเพราะใช้งานได้สะดวกไม่เกี่ยวเสื้อผ้า แต่จะต้องคว้านเนื้อเหล็กออกไปให้มากพอสมควรจะลดน้ำหนักลง เพื่อที่นกจะได้สับได้เร็วขึ้นแล้วยังมีโมเมนตั้มน้อยไม่ฟาดแรงเกินไปจนปืนสะเทือน

หงายปืนแล้วผ่อนสไลด์ออกไป ทางด้านหน้าของโครงปืน ปลดครอบสปริงออกไป แล้วยกไกด์ร็อดกับรีคอยล์สปริง ออกมาทางด้านหลัง จากนั้นพับห่วงโตงเตง แล้วบิดบูชทวนเข็มนาฬิกากลับมาอีกด้านหนึ่ง จากนั้นก็ดึงลำกล้องออกไปทางด้าหน้าสไลด์

ซองกระสุนของชาร์ล ดาลี เป็นแบบแถวเดี่ยว บรรจุได้ 8 นัดเช่นเดียวกับปืน M1911 ทั่วไป และยังใช้ซองกระสุนร่วมกับ M1911 ทั่วไปได้ ซองกระสุนที่ติดปืนมาเป็นของชาร์ล ดาลีเอง แต่ลิ้นซองกระสุนชาร์ล ดาลี ใช้ของชูตติ้งสตาร์ ก็ดีเหมือนกันครับ ของอะไรที่คนอื่นเขาทำมาดีแล้ว ก็ขอซื้อมาใช้เสียเลย ไม่ต้องลอกแบบกันให้เสียศักดิ์ศรี

ลำกล้องใช้เกลียว 6 เกลียวเหมือนโคลท์ แต่เวียนคนละทางกัน คือของชาร์ล ดาลี จะทำเป็นเกลียวเวียนขวาแล้วสันเกลียว ออกจะเตี้ยและกว้างกว่าของโคลท์เล็กน้อย เรื่องที่นักเล่นปืนเราวิจารณ์กันว่าลำกล้องเดิม เกลียวซ้ายแล้วมาเปลี่ยนเป็นเกลียวขวา ลำกล้องใหม่จะเหวี่ยงหัวกระสุนจนปรับศูนย์ไม่เข้าเป้านั้น ขอเรียนว่าไม่จริงหรอกครับ คนที่เคยเรียนเกี่ยวกับปืนใหญ่จะทราบว่าอาการเยื้องตัวของกระสุนไปตามทิศทาง ของเกลียวลำกล้องนั้นมีอยู่ก็จริง แต่เป็นตัวเลขที่น้อยมาก ตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณแบบที่ทหารปืนใหญ่เรียกว่า "ตัวแก้" จากการเยื้องตัวตามเกลียวลำกล้องนั้นยังต่ำกว่า ตัวแก้จากกระแสลมเสียอีก ยิ่งถ้าเป็นปืนขนาดเล็กอย่างเช่นปืนพกหรือปืนไรเฟิลแล้ว ถือว่าไม่ต้องไปสนใจเลยก็ได้


ถอดปืนเพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการทำความสะอาด

โคลท์ .45 ของผมเองก็มีลำกล้องอยู่ ใช้งานอยู่ทั้งแบบเกลียวซ้ายและเกลียวขวา เวลาเปลี่ยนลำกล้องก็เห็นวิถีกระสุนผิดกันเล็กน้อย แล้วดูเหมือนว่าจะผิดกันในทิศทางที่สวนกับเกลียวลำกล้องเสียด้วยซ้ำ

เกลียวลำกล้องของ ชาร์ล ดาลี จัด ให้เวียนครบรอบที่ 400 มม. เท่ากับของกล็อกและซิก-เซาเออร์ พอเทียบกลับมาเป็นระบบนิ้วก็เลยเป็น 1-15.75 หรือเป็นเกลียวที่เร็วกว่าโคลท์ประมาณ 1.6% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นเกลียว 1-16 เหมือนกับโคลท์ก็น่าจะได้ สำหรับปืน .45 ออโตอื่นๆก็มักจะใช้เกลียวใกล้เคียงกันนี้ อย่างเช่น สมิธฯ จะใช้ 1-15 และสปริงฟิลด์ จะใช้ 1-16 เท่ากับโคลท์ ยกเว้นสปริงฟิลด์ รุ่นโอเมก้า ที่ใช้ 1-18 และที่แปลกกว่านี้ ก็คงเป็นฟรีดอมอามส์ที่ใช้ 1-24 แต่อันนี้ คงเป็นเพราะฟรีดอมอามส์เป็นปืนที่เปลี่ยนลูกโม่ได้ ก็เลยกำหนดเกลียวลำกล้องให้เหมาะสมกับกระสุน .454 คาซูลล์เอาไว้ก่อน พอเอาโม่ .45 ลองโคลท์, .45 ออโต หรือ .45 วินฯ แม็กฯ มาใส่กับปืนก็เลยโดนรีดด้วยเกลียว 1-24 ตามไปด้วย

ยิงทดสอบระยะ 15 เมตร ตัวเองใช้กระสุน 5 แบบ ยิงคนเดียวก็ต้องวัดความเร็ว พร้อมกับเช็คกลุ่มกระสุนไปด้วยแบบนี้ไม่งั้น เมื่อยแขนแย่ เป้าซ้ายสุดเป็นกระสุน FMJ 230 เกรน หัวมนกลมของฟิลิปปินสู้เป้ากลาง เป็นหัวกระสุนแบบเดียวกัน แต่เป็นของบุลเล็ทมาสเตอร์ ส่วนเป้าขวาสุดที่รูโตกว่าเพื่อนเป็นกระสุนยิงเป้า SWC 185 เกรนของวินเชสเตอร์
คู่นี้เล่นของหนักทั้งสองเป้า เป้าซ้ายเป็นเรมิงตัน +P หัวรู 185 เกรน ส่วนเป้าขวาเป็น ลูกเมเจอร์ รุ่นเก่า 200 เกรน ความเร็ว 1,000 ฟุต/วินาที ปืนที่ทนกระสุนแบบนี้ได้ ก็ยิงกระสุน .45 ได้ทุกยี่ห้อแล้วละครับ

อวป. เตรียมกระสุนไปยิงทดสอบ ชาร์ล ดาลี ด้วยกัน 6 แบบ ตั้งแต่กระสุนอ่อนที่สุดคือลูกแมทช์ของบุลเล็ทมาสเตอร์แบบหัวตะกั่ว 200 เกรน กับลูกแมทช์ หัวยักไหล่ 185 เกรน หุ้มทองแดงของวินเชสเตอร์ กระสุนมาตรฐานหัวบอล 230 เกรน FMJ ของฟิลิปปินส์สัญชาติเดียวกับปืน กับของบุลเล็ทมาสเตอร์ นอกจากนั้น เรายังมีกระสุนที่แรงเป็นพิเศษอีก 2 แบบ คือ เรมิงตัน หัวรู JHP +P 185 เกรน กับลูกเมเจอร์สำหรับแข่ง IPSC ซึ่งตอนนี้ได้ข่าวว่าเขาลดค่าพาวเวอร์ แฟ็กเตอร์ลงมาแล้ว แต่พอดีเรายังมีกระสุนรุ่นเก่าที่หนัก 200 เกรน ความเร็ว 1,000 ฟุต/วินาที ก็เลยถือโอกาสเอามาทดลองด้วย

ซ้าย : ดร.ผณิศวร ขวา : หมอจันทร์ ใช้กระสุนของฟิลิปปินส์ 230 FMJ ทั้งคู่

ชาร์ล ดาลี จัดการกับกระสุนทุกแบบได้เรียบร้อย มีขลุกขลักอยู่นัดเดียวก็คือลูกยักไหล่ 185 เกรนของวินเชสเตอร์ที่บรรจุเอาไว้เป็นนัดบนสุด คือผมสอดซองกระสุน เข้าไปในจังหวะที่สไลด์ค้างอยู่เสร็จแล้วก็เขี่ยคันค้างสไลด์ปรากฏว่าสไลด์มีแรงส่งไม่พอ ที่จะดันกระสุนนัดแรกเข้ารังเพลิง ก็เลยจัดการปลดซองกระสุนออกมาบรรจุใหม่แล้วใช้วิธี ดึงสไลด์ถอยหลังจนสุดแล้วถึงปล่อย เที่ยวนี้ปืนถึงได้ทำงานเรียบร้อยยิงโดยออกไปได้ ชนิดที่ไม่ติดขัดทั้ง 5 นัด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเวลาปืนแขวนสไลด์อยู่นั้นสไลด์จะถอยหลัง จนสุดแล้วเดินหน้ากลับมาประมาณ 3-4 มม. เมื่อเราปล่อยสไลด์โดยใช้วิธีกดคันค้าง สไลด์ ก็จะทำให้สไลด์มีโมเมนตั้มน้อยกว่าการยิงปกติ แล้วพอดีเป็นกระสุนแบบหัวยักไหล่ ซึ่งฝืดกว่ากระสุนหัวบอลปืนก็เลยติดขัด ชาร์ล ดาลี กระบอกที่ทดสอบ ปากขอรั้งปลอกกระสุนทำมาคมเกินไปหน่อย ตอนที่ยิงทดสอบมีกระสุนบางนัดที่มีอาการ ถูกขอรั้ง "กัด" จานท้ายแหว่งออกมาเป็นสะเก็ดเล็กๆ กระเด็นกลับมาโดนคนยิงพอคันๆ ไม่ทราบว่าจะเป็นแบบนี้ทุกกระบอกหรือเปล่า แต่อาการนี้แก้ไม่ยาก แค่ถอดขอรั้งออกมาลบมุมที่ปากเสียหน่อยก็ใช้ได้แล้ว แต่ควรจะให้ช่างทำนะครับ เพราะถ้าเกิดเราไม่ทราบว่าต้องเปิดตรงไหน ต้องเก็บตรงไหน แล้วไปซี้ซั้วทำเข้า เกิดขอรั้งจับจานท้ายกระสุนไม่ได้ขึ้นมา ก็ต้องมีรายการเสียเงินซื้ออันใหม่เท่านั้น

ผอ.สุวิทย์ ใช้กระสุนบุลเล็ทฯ 2 แบบ เป้าซ้ายเป็นหัวบอล FMJ 230 เกรน ส่วนเป้าขวาเป็นหัวตะกั่วปลายตัด 200 เกรน

สรุปแล้ว ชาร์ล ดาลี กระบอกนี้ จัดว่าเป็นปืนที่น่าใช้ แต่งมาเรียบร้อยแล้วจากโรงงาน คุณภาพของลำกล้องก็ใช้ได้ ซื้อมาแล้วเปลี่ยนไกด์ร็อดเป็นแบบยาว กับแต่งไกเสียหน่อยก็เอาออกงานได้ไม่อายใคร ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้างฯ ไกอาร์ม อยู่บนดิโอลด์สยามพลาซ่า ถนนบูรพา เขตพระนคร กทม. หรืออาจจะติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ หมายเลข 225-8502, 225-9870.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 316 กุมภาพันธ์ 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com