เว็กเตอร์ เอสพีวัน (Vektor SP1)
ขนาด 9 มม. พาราเบลลัม

หน้าทดสอบของ อวป. ในฉบับนี้นับเป็นครั้งที่สองที่เราได้มีโอกาสพูดถึงปืนพก เว็กเตอร์ที่มาจากประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศนี้เป็น "แอฟริกา" เฉพาะชื่อกับที่ตั้งของ ประเทศ แต่ประชาชนที่อยู่ในระดับเป็นผู้นำในสังคม ควบคุมเศรษฐกิจหรือเป็นเจ้าของ โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศล้วนแต่เป็นฝรั่งผิวขาวแทบทั้งสิ้น ฝรั่งเหล่านี้ สืบเชื้อสายมาจากชาวดัทช์ที่เข้าไปอยู่ตั้งแต่สมัยที่พบแหลมกู๊ดโฮปใหม่ๆ ชาวผิวขาวรุ่น ต่อมาก็เป็นพวกอังกฤษที่ตามเข้าไปในยุคที่เริ่มตั้งเหมืองทองคำกับเหมืองเพชรในช่วง ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้นสินค้าจากแอฟริกาใต้จึงพูดได้เลยว่าเป็นฝีมือในระดับ มาตรฐานของชาวยุโรป

ภาพเต็มของเว็กเตอร์ SP1

แวดวงปืนพกของแอฟริกาใต้ในระยะแรกๆจะใช้ปืนบราวนิง ไฮ-เพาเวอร์แบบเดียว กับกองทัพอังกฤษ เนื่องจากแอฟริกาใต้เคยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเครือจักรภพอยู่ ระยะหนึ่ง ต่อมาหลังจากที่ต้องออกจากเครือจักรภพเพราะใช้นโยบายเหยียดผิวหนักข้อ ไปหน่อย แอฟริกาใต้ก็พัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธปืนของตนเองขึ้นมา โดยในส่วนปืนพก จะเป็นปืนเว็กเตอร์ (Vektor) ผลิตโดยบริษัทในเครือ Lyttelton Engineering Works

ปืนเว็กเตอร์รุ่นแรกได้ชื่อว่าโมเดล Z88 คลอดออกมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1988 เว็กเตอร์ไม่ได้ออกแบบใหม่ทั้งหมด แต่ใช้วิธีก๊อปปี้มาจากเบเร็ตต้า โมเดล 92 สำหรับชื่อ Z88 นั้น ตัวเลข 88 มาจากปี ค.ศ. 1988 ที่ ผลิตปืนออกมา ส่วนตัวอักษร Z มาจากชื่อ ของคุณ TD Zeederberg ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และเป็นหัวหน้าโครงการผลิตปืนรุ่นนี้ ปืนโมเดล Z88 เป็นปืนที่เจตนาทำออกมาสำหรับใช้ในวงการตำรวจเป็นส่วนใหญ่

การถอดปืนให้ปลด ซองกระสุนเคลียร์รังเพลิง แล้วดึงสไลด์ค้าง ด้วยคันค้างสไลด์ จากนั้น ให้บิดกระเดื่อง ล็อกสไลด์ลงล่าง จับสไลด์ไว้ให้ดี ปลดคันค้างสไลด์ แล้วค่อยๆ ผ่อนสไลด์ออกจากโครงปืน ปลดไกด์ร็อดกับลำกล้อง ออกทางด้านหลัง ถ้าลำกล้องไม่ยอมออก ให้กดปุ่มเพื่อปลด ล็อกแท่งเหล็ก Dropping Wedge ออกจาก สไลด์

ปืน SP1 ที่ อวป. นำมาทดสอบในฉบับนี้เป็นปืนรุ่นที่ 2 ของเว็กเตอร์ซึ่งใน ระยะหลังได้แยกตัวเองจากลิตเทลตันออกมาเป็นอิสระในชื่อ VEKTOR a Division of Denel สำหรับชื่อโมเดล SP1 น่าจะมาจากคำว่าปืนพกมาตรฐานหรือ Standard Pistol แบบที่ 1

ระบบกลไกของเว็กเตอร์ SP1 ยังคงเป็นระบบเหมือนกับเบเร็ตต้า 92 และเว็กเตอร์ Z88 คือเป็นระบบรีคอยล์ปลดล็อกด้วยแท่งเหล็ก Dropping Wedge ผมใช้คำว่า "ระบบเหมือนกับเบเร็ตต้า" นะครับ แต่ไม่ได้ บอกว่าเบเร็ตต้าเป็นต้นฉบับ เพราะระบบ กลไกแบบนี้เบเร็ตต้าเองก็ยังไปลอกแบบมาจากวอลเธอร์ P-38 อีกทีหนึ่ง

 
เมื่อการถอดชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อทำความสะอาด

ระบบรีคอยล์ที่ลำกล้องถอยตรงๆ มีจุดเด่นและจุดด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ รีคอยล์แบบลำกล้องลดท้ายของบราวนิงอยู่หลายจุดด้วยกันอย่างเช่น ปืนลำกล้องถอยตรง สามารถออกแบบแรมพ์หรือลาดป้อนกระสุนได้ง่ายกว่าระบบลำกล้องลดท้ายของบราวนิง การคว้านบูชหรือเจาะช่องลำกล้องที่บริเวณปากสไลด์ก็ไม่ต้องเผื่อแนวให้ลำกล้องกระดกได้ นอกจากนั้นแล้วการลดท้ายลงก็หมายความว่าแนวลำกล้องจะต้องเงยสูงขึ้น ดังนั้นปืนที่ใช้ ระบบบราวนิง กลุ่มกระสุนจะวูบวาบในแนวสูงต่ำได้มากกว่าปืนที่ใช้ระบบลำกล้องถอยตรงๆ

จากภาพถ่ายแบบเอกซเรย์จะเห็นได้ว่าลำกล้องปืนเริ่มถอยทันทีที่หัวกระสุน เคลื่อนตัวออกจากปลอกกระสุน ดังนั้น การปรับศูนย์ในแนวสูงต่ำจึงเป็นการปรับศูนย์ ที่เผื่อสำหรับการกระดกของลำกล้องเอาไว้แล้ว แต่เราจะพบเสมอๆว่าปืนยิงกินต่ำเมื่อใช้ กระสุนความเร็วสูง หรือใช้กระสุนหัวเบากว่าที่ได้ปรับศูนย์เอาไว้ เนื่องจากหัวกระสุน มีความเร็วสูงขึ้นออกจากลำกล้องเร็วขึ้น หรือพูดอีกทีหนึ่งก็คือหัวกระสุนหลุดออกจาก ลำกล้องไปในจังหวะที่ลำกล้องลดท้ายลงไปไม่มากนักนั่นเอง และอาการเช่นว่านี้จะเกิดขึ้น กับปืนที่ใช้ระบบลำกล้องถอยตรงๆได้น้อยกว่าปืนที่ลำกล้องถอยแบบลดท้ายลงแบบบราวนิง

แท่งสำหรับล็อกลำกล้องกับสไลด์ (Dropping Wedge) ในภาพอยู่ในสภาพที่กำลังล็อก เมื่อลำกล้องถอยหลังปุ่มเล็กๆ ที่อยู่ด้านท้ายจะไปชนกับโครงปืน ก็จะทำให้แท่งเหล็กนี้ตกลงมา เป็นการปลดล็อกออกจากสไลด์

สำหรับจุดอ่อนของปืนถอยหลังตรงๆ ก็คงมีอย่างเดียวก็คือสไลด์ต้องเสียเนื้อเหล็ก ด้านข้างออกไปเพื่อให้ปีกของแท่งเหล็ก Dropping Wedge ฝังตัวล็อกลำกล้องเอาไว้กับสไลด์ในขณะที่ระบบของบราวนิงจะใช้ด้านบนแทน ทำให้ไม่มีผลต่อความแข็งแรงของสไลด์ เพราะส่วนนั้นยังไงๆก็จะเปิดออกเป็นช่องคาย ปลอกอยู่แล้ว

เว็กเตอร์ SP1 เป็นปืนที่เจตนาทำออกมาใช้ในวงการทหารของแอฟริกาใต้เอง และยังส่งเป็นสินค้าออกอีกด้วย ใกล้ๆบ้านเราที่ซื้อเว็กเตอร์ SP1 เอาไปใช้ในกองทัพแล้ว ก็คือมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเรานี่เอง เว็กเตอร์ SP1 ปรังปรุงไปจาก เบเร็ตต้า 92 มากพอดู ตั้งแต่ใช้เกลียวลำกล้อง ระบบสี่เหลี่ยมบิดตัวสไลด์ปิดด้านบนไม่ได้ เปิดโล่งเหมือนกับเบเร็ตต้า แล้วก็ย้ายห้ามไกลงมาที่โครงปืนเหมือนกับเทารัส แต่ห้ามไกของเว็กเตอร์ SP1 ทำหน้าที่เป็นคันห้ามไกอย่าง เดียว และที่คุ้นๆตาอีกอย่างหนึ่งก็ตรงโกร่งไกที่เป็นทรงเหลี่ยมเหมือนกับ ลาม่า เอ็ม 82

ซองกระสุนถูก "ตอน" ให้บรรจุกระสุนได้ 10 นัด ถูกต้องทั้งกฎหมายไทยและ กฎหมายอเมริกัน

ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับเบเร็ตต้า 92 คงจะจำได้ว่าเราสามารถใช้มือข้างเดียวถอด สไลด์ออกจากโครงปืนได้ โดยการเอามือจับคร่อมลงบนสไลด์ใช้นิ้วชี้กดปุ่มล็อกกระเดื่อง แล้วเอานิ้วหัวแม่มือเขี่ยกระเดื่องปลดล็อกพร้อมกับดึงสไลด์ออกมาได้เลยไม่ว่าปืนจะใส่ ซองกระสุนอยู่หรือไม่ก็ตาม การปลดสไลด์ปืน ในลักษณะนี้สามารถนำมาใช้กับปืนเทารัสได้ด้วย เพียงแต่ของเทารัสถ้าเราใส่ซองกระสุนเอาไว้ก็จะดึงสไลด์ออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง

ผมเห็นการปลดสไลด์ปืนเบเร็ตต้าในลักษณะนี้ครั้งแรกมาจากหนังจีนในทีวี จำได้ว่าเป็นเฉินหลงที่กำลังโดนปืนเบเร็ตต้าจ่อหัวอยู่ พระเอกของเราคว้าสไลด์ดึงออก มาจากโครงปืนง่ายๆ ก็เลยนึกออกว่าตัวเอง เวลาจะล้างปืนก็ใช้มือซ้ายมือเดียวปลดล็อก สไลด์เบเร็ตต้า 92 อยู่แล้ว อดใจไม่ไหวรีบไปหยิบเบเร็ตต้า 92 ออกมาปลดสไลด์ในสไตล์ เฉินหลงทันที ตอนแรกที่ยังทดลองกับปืนที่ใส่ซองกระสุนเปล่าๆ ก็พบว่าถอดออกได้ ง่ายๆ ชักได้ใจก็เลยใส่ซองกระสุนที่มีกระสุนกับใส่กระสุนดัมมี่เข้าไปในรังเพลิงก็พบว่า ยังถอดออกอยู่ดี แปลว่างานนี้ของจริงครับ ไม่ได้หลอกคนดูเล่นๆ


พ.ท.สุพินท์ สมิตะเกษตริน ผู้เขียน ยิงทดสอบ ที่ระยะ 15 เมตร ใช้กระสุนวินเชสเตอร์ 115 เกรน

แต่ถ้าเป็นเว็กเตอร์ SP1 กระบอกนี้ เฉินหลงคงจะเล่นกลไม่ได้เหมือนที่ทำกับ เบเร็ตต้าหรอกครับ เพราะกระเดื่องล็อกสไลด์ ของเว็กเตอร์ไม่มีปุ่มล็อกแบบเดียวกับเบเร็ตต้า แต่ใช้วิธีทำรอยบากไว้ที่สไลด์ตอนหน้าแทน จังหวะที่ปืนพร้อมจะยิงอยู่นั้นจะบิดกระเดื่องเพื่อถอดสไลด์ไม่ได้เลย จะต้องดึงสไลด์ให้ถอยหลังจนสุดเสียก่อนถึงจะบิดกระเดื่องได้ระบบการ ถอดสไลด์ของเว็กเตอร์แบบนี้ นอกจากจะไม่มีจุดอ่อนเหมือนกับเบเร็ตต้าแล้ว ยังประหยัด ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องไปได้อีกสองสามชิ้น

การถอดปืนเพื่อทำความสะอาด ทำคล้ายๆกับปืนซิก-เซาเออร์ คือปลดซอง กระสุนแล้วเคลียร์รังเพลิงให้เรียบร้อย จากนั้นก็ดึงสไลด์ถอยหลังพร้อมกับยกคันค้าง สไลด์แขวนสไลด์ค้างเอาไว้ แล้วก็บิดกระเดื่องล็อกสไลด์ลงล่าง 90 องศา จับสไลด์เอาไว้ ให้ดีแล้วปลดคันค้างสไลด์ ค่อยๆ ผ่อนสไลด์ ออกไปด้านหน้าจนหลุดออกจากโครงปืน ปลดไกด์ร็อดออกทางด้านหลังแล้วก็ยกลำกล้องออก ถ้าลำกล้องดื้อไม่ยอมออกมาง่ายๆ ก็กดปุ่มโคนลำกล้องตอนล่างเพื่อปลดแท่งเหล็ก Dropping Wedge ออกจากสไลด์ ก่อนก็จะดึงลำกล้องออกมาได้

คุณบัณฑุ กับ หมอจันทร์ ยิงทดสอบที่ระยะ 15 เมตรเหมือนกัน คุณบัณฑุยิงกินสูง แต่หมอจันทร์ลงต่ำเพราะเล็งจี้กับเล็งนั่งแท่น

จะเอาแท่งเหล็ก Dropping Wedge ออกมาจากลำกล้องก็ได้ แต่ก่อนจะปลดออก มาดูให้ดีว่าเหลี่ยมไหนเข้ากับมุมไหน ไม่งั้นตอนใส่กลับเข้าไปจะขลุกขลักอยู่เหมือนกัน

เว็กเตอร์ SP1 ใช้ลำกล้องสี่เหลี่ยมบิดตัวแทนระบบสันเกลียวกับร่องเกลียว เหมือนกับปืนทั่วไป ถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าปืนที่ใช้ลำกล้องระบบนี้จะยิงได้แม่นยำกว่า ปืนที่ใช้ร่องเกลียวกับสันเกลียว นอกจากนั้น แล้วปืนแข่งขันส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ระบบร่องเกลียวเหมือนเดิม แต่ที่แน่ๆก็คือปืนที่ใช้เกลียวลำกล้อง ระบบเหลี่ยมบิดตัวนี้ทำความสะอาดลำกล้อง ได้ง่ายกว่าลำกล้องระบบร่องเกลียว/สันเกลียว

อาจารย์เทียนชัย กับ อาจารย์ผณิศวร ทำกลุ่มกระสุนได้ตำแหน่งเดียวกัน

แล้วที่เห็นแตกต่างกันอีกอย่างก็คือปืน ระบบลำกล้องเหลี่ยมยิงกระสุนหัวตะกั่ว ไม่ค่อยจะแม่นยำนัก เหตุผลก็ไม่ใช่เป็นเพราะหัวกระสุนเป็นทองแดงหรือตะกั่ว แต่ว่าเป็น เพราะขนาดของหัวกระสุนมากกว่า เนื่องจาก หัวกระสุนตะกั่วมักจะรีดหัวออกมาโตกว่า กระสุนหัวเคลือบทองแดง อย่างเช่น กระสุนขนาด 9 มม. พาราเบลลัม แบบมาตรฐาน จะใช้หัวกระสุนโต 0.355 นิ้ว ยิ่งถ้าเป็นหัวยาวๆ อย่างเช่น 147 เกรน, 158 เกรน หรือว่า 170 เกรน อาจจะลดลงเหลือ 0.3545 นิ้วหรือ 0.354 นิ้วด้วยซ้ำไป แต่ ถ้าเป็นกระสุนหัวตะกั่วซึ่งมีร่องในแนวขวาง สำหรับบรรจุไขหล่อลื่นเพื่อป้องกันตะกั่วติด เกลียวลำกล้อง โรงงานผู้ผลิตเขาจะรีดหัวกระสุนให้โตกว่าหัวทองแดงนิดหน่อย คือจะโตประมาณ 0.356-0.357 นิ้ว เวลาเอากระสุนหัวตะกั่วมายิงในลำกล้องเหลี่ยมบิดตัว ซึ่งไม่มีร่องเกลียวจะให้ตะกั่วหัวกระสุนหนีเข้าไปได้ ก็เลยยิงได้ไม่ค่อยจะแม่นยำเท่าที่ควร

เป้าซ้ายเป็นของ น.ท.สุรพล ส่วนเป้าขวาเป็นของอาจารย์วีระ ผอ.สุวิทย์ ยิงปิดท้าย ทำกลุ่มกระสุนได้ดี เพราะจังหวะลั่นไกเหมือนกับเบเร็ตต้า 92 ปืนคู่มือ

วันที่เรายิงทดสอบจึงได้เลือกกระสุนหัวหุ้มทองแดงของวินเชสเตอร์ 115 เกรน แบบ FMJ ซึ่งก็พบว่าเว็กเตอร์ SP1 ยิงได้ราบรื่นไม่ติดขัดแม้แต่นัดเดียวและยังทำกลุ่ม กระสุนอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถ ติดต่อได้ที่ ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล อยู่บนดิโอลด์สยามพลาซ่า ถนนบูรพา เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร. 223-6457.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 316 กุมภาพันธ์ 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com