ไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ (ถูกกฎหมาย)

นักเล่นปืนบ้านเราออกจะอยากได้ปืนไรเฟิลระบบกึ่งอัตโนมัติ (รวมทั้งแบบอัตโนมัติ) กันเอามากๆ มีความพยายามที่จะนำเข้ามาทั้งแบบผิดกฎหมายรวมทั้งการขอใบ ป.2 หรือ ป.3 แบบถูกกฎหมาย แล้วใช้วิธีการพิลึกพิลั่นต่างๆนานา จนกระทั่งออกใบ ป.4 มาจนได้ แต่อยากจะเตือนว่าต่อให้ออกใบ ป.4 แบบมั่วๆ มาได้แล้วก็จริง แต่ปืนแบบนี้ยังไงๆ ก็มีความผิดอยู่ในตัวของมันเอง ถูกจับได้เมื่อไหร่ก็สามารถตั้งข้อหาได้สารพัด ตั้งแต่ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ, กฎหมายศุลกากร จนถึงประมวลกฎหมาย อาญาเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไปจนถึงการปลอมเอกสารหรือ ใช้เอกสารราชการปลอม


ภาพจากกันส์ไดเจสต์ 9th Edition ปี ค.ศ. 1955 หน้า 73 ในปีนั้นวินเชสเตอร์เรียกปืนรุ่นนี้ว่าโมเดล 07 และตั้งราคาไว้ 140.20 เหรียญ ซึ่งจัดว่าแพงมาก เพราะในปีเดียวกันนั้น ปืนคานเหวี่ยงชั้นดีอย่างวินฯ โมเดล 94 ราคาเพียง 69 เหรียญ ไรเฟิลแรงสูงโมเดล 70 ขนาด .375 H&H ยังตั้งราคาไว้ 120.95 เหรียญ ถ้าเทียบกับปืนสั้นอย่างโคลท์ กัฟเวอร์นเมนท์ .45 ก็ยังแค่ 64.60 เหรียญ หรือว่ารูเกอร์ มาร์ค 1 ออโต .22 ก็มีราคาเพียง 37.50 เหรียญ

แต่เชื่อไหมครับว่ายังมีปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติรุ่นเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นปืนที่ออกใบ ป.4 มาแบบถูกต้องตามกฎหมายอย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากได้นำเข้ามาและจดทะเบียน ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายห้ามปืนในลักษณะนี้

ตอนที่รับปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ วินเชสเตอร์กระบอกนี้มาทีแรก ยังชั่งใจอยู่ว่า จะเขียนเรื่องกฎหมายดี หรือจะคุยกันในเรื่องความเป็นมาของตัวปืนดี แต่พอนอนคิดอยู่ คืนหนึ่งก็เลยตกลงใจว่าจะลองเล่าให้ฟังทั้งสองเรื่องก็แล้วกัน อย่างน้อยก็เคยร่ำเรียนทาง กฎบัตรกฎหมายมาอยู่บ้าง ยังไงๆ ก็คงไม่ปล่อยไก่ออกไปจนหมดเล้า

เรื่องประวัติของปืนผมไม่ห่วง เพราะรู้จักปืนรุ่นนี้อยู่พอสมควร และที่บ้านก็ยังมี ตำราเรื่องปืนอยู่ร่วมๆครึ่งตัน แต่พอจับเรื่องกฎหมายก็ถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ เพราะหาตำรา หรือเอกสารวิจัยต่างๆเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่ลงล็อกไม่ได้เลยสักเล่มเดียว ถึงกับต้องไปค้นไมโครฟิล์มที่หอสมุดแห่งชาติ เพราะว่า พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ฉบับปฐมฤกษ์ ของไทยเราออกมาตั้งแต่ ร.ศ.131 (พ.ศ. 2455) ไม่มีเอกสารตัวจริงเหลืออยู่อีกแล้ว
ส่วน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ฉบับที่สอง คือ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2477 ยังพอมีราชกิจจานุเบกษาตัวจริงเหลืออยู่ แต่ก็อยู่ในสภาพเหลืองกรอบรุ่งริ่งเต็มที

กฎหมายปืนเก่าแก่ที่สุดของเรา เท่าที่ค้นคว้าลงไปได้อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และไม่ใช่กฎหมายเอกเทศอย่างเช่น พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ของเราในทุกวันนี้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของ "กฎสำหรับผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมือง จ.ศ.1114 (พ.ศ.2295)" ซึ่งก็ไม่ได้จำกัด สิทธิอะไร เพียงแต่กำหนดให้ผู้ใหญ่นายบ้านทั้งหลายบันทึกรูปพรรณของปืนเอาไว้เท่านั้น

กฎหมายควบคุมอาวุธปืนเริ่มมีเอาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมี "ประกาศเรื่องปืนแคตริงกัน จ.ศ.1236" (พ.ศ. 2417) เป็นการห้ามไม่ให้ประชาชนซื้อขายหรือมีปืนแกตลิงหรือ ปืนกลหลายลำกล้อง ซึ่งเป็นปืนที่มีหลักการเดียวกับปืนใหญ่อากาศ 6 ลำกล้องขนาด 20 มม. แบบ M61 ที่ติดเครื่องบิน F16 ทุกวันนี้ เพียงแต่ปืนแกตลิงในสมัยรัชกาลที่ 5 ของเราไม่ได้ยิงด้วยไฟฟ้า แต่ยังต้องใช้มือหมุน และใช้กระสุนอานุภาพพอๆกับ .45 ออโตเท่านั้นเอง

ถัดจากนั้นอีกประมาณสิบปีก็มีประกาศเจ้านครเชียงใหม่ ห้ามมิให้ราษฎรลักลอบซื้อ เครื่องศาตราวุธ กระสุนดินดำ ถึงตรงนี้คงต้องขออนุญาตอธิบายนิดหนึ่ง คือในสมัย ร.5 ในช่วงต้นรัชกาลนั้น เชียงใหม่ยังมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม ทางกรุงเทพฯเพียงแต่ส่งกัฟเวอร์เนอร์ หรือข้าหลวงกำกับขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้า ผู้ครองนครเท่านั้น ดังนั้น เชียงใหม่จึงมีอำนาจที่จะออกกฎหมายภายในใช้เองได้

กฎหมายปืนที่มีชื่อว่า พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ฉบับแรกของไทยเราคือ "พระราชบัญญัติอาวุธปืน แลเครื่องกระสุนปืน รัตนโกสินทรศก 131 (พ.ศ. 2455)" กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ ห้ามปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ คือมีบทบัญญัติห้ามเฉพาะปืนใหญ่กับปืนกลเอาไว้ในมาตรา 8 โดยมีข้อความว่า

"มาตรา 8 บรรดาอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนอย่างสำหรับใช้แต่ในการสงคราม เช่นปืนใหญ่ปืนกลเครื่องกระสุนสำหรับปืนชนิดนั้น ห้ามมิให้ออกใบอนุญาต หรือออก หนังสืออนุญาตให้ผู้ใดสั่งเข้ามา หรือซื้อ หรือทำ หรือซ่อมแซม หรือค้าขาย หรือมี อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวมาแล้วนั้น ในพระราชอาณาจักร์เปนอันขาด"

และเท่าที่ตรวจสอบจากกฎกระทรวงที่สมัยนั้นเรียกว่า "กฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย" ก็ไม่ปรากฏว่ามีการห้ามปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเพิ่มเติมขึ้นมา

พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ฉบับที่สองของเราคือ "พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกะสุนปืน วัตถุระเบิด และดอกไม้เพลิง พุทธศักราช 2477" อ่านแล้วอาจจะดูชอบกลอยู่บ้าง เพราะผมยังรักษา ตัวสะกดการันต์แบบเดิมเอาไว้ สังเกตไหมครับว่าปี 2455 เราใช้คำว่า "แล" แต่ใช้ "กระสุนปืน" พอมาถึง 2477 กลับเขียนว่า "กะสุนปืน" ส่วนคำว่า "แล" กลายเป็น "และ" เหมือนในปัจจุบันนี้


ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถอดออกมาแล้ว

โครงสร้าง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ฉบับที่สองของเรา ไม่ได้กำหนดเรื่องประสิทธิภาพของ อาวุธปืนที่ประชาชนสมควรจะมีไว้ใช้งานได้ เอาไว้ในตัว พ.ร.บ. โดยตรง แต่ใช้วิธีให้ไป ออกกฎกระทรวงแทน คล้ายๆกับการเซ็นเช็คโดยไม่ลงวันที่อะไรทำนองนั้น ซึ่งโดยหลักการ ก็นับว่ามีเหตุมีผลดีอยู่ เพราะช่วงนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย และมีรัฐสภามาทำหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว การแก้กฎหมายที่เป็น พ.ร.บ. นั้นทำได้ยาก และใช้เวลานาน ตามไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ในเมื่อเอา มาใส่ไว้ในกฎกระทรวงจะแก้ไขง่ายกว่ากันมาก เพียงแค่ยกร่างกฎกระทรวงขึ้นไปให้ ครม. อนุมัติ เสร็จแล้วก็นำกลับมาออกเป็นกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายได้เลย

กฎกระทรวงฉบับแรกของ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ 2477 เป็นการวางระเบียบเกี่ยวกับ ระบบงานทะเบียนอาวุธปืน มีที่น่าสนใจอยู่ในข้อ 9 เกี่ยวกับการทำเครื่องหมาย
หรือการตอก ก.ท. ในสมัยนั้น โดยกำหนดให้ใช้เหล็กตอกที่พานท้ายปืน หรือใช้กรดกัด เนื้อเหล็กให้เป็นตัวอักษร

มาถึงกฎกระทรวง (ฉะบับที่ 2) ซึ่งตามออกมาใน พ.ศ.2478 ถึงได้กำหนด ห้ามออกใบอนุญาตปืนร้ายแรงบางจำพวก แต่ก็ยังไม่ได้ห้ามปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติอยู่ดี คือไปห้ามอาวุธปืนสองประเภทคือปืนแบบเดียวกับที่ทหารใช้ แล้วก็พวกปืนกล, ปืนยิงเร็ว ปืนพกกล หรือปืนพกธรรมดาที่มีขนาดตั้งแต่ 9 มม. ขึ้นไป แต่การห้ามที่ว่านี้ ก็ยังห้ามเฉพาะใบอนุญาตสั่งเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงใบ ป.3 หรือ ป.4

มาจนถึง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ฉบับปัจจุบันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2490 ก็อย่างที่เรา ทราบๆกันอยู่แล้วว่าในปัจจุบันนี้กฎหมายของเรายอมให้ใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติได้เฉพาะ ในปืนลูกกรด, ปืนลูกซอง กับปืนสั้น (ปืนลำกล้องมีเกลียว ลำกล้องยาวไม่เกิน 160 มม.) ทีนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 ซึ่งออกมาในปี พ.ศ. 2491 เขาห้ามเฉพาะการออกใบ อนุญาตสำหรับให้ทำ สั่ง หรือนำเข้าเท่านั้นนะครับ ซึ่งหมายความว่านับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. พ.ศ.2491 ที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่มีการออกใบ ป.5 กับใบ ป.2 สำหรับปืน (ร้ายแรง) เหล่านี้อีกต่อไป แต่การที่กฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงใบ ป.3 กับใบ ป.4 ดังนั้น ก็หมายความว่ายังสามารถออก ใบ ป.4 ในลักษณะของการรับโอนปืนไรเฟิล กึ่งอัตโนมัติได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ที่ผมพูดว่ายังออกใบ ป.4 ให้กับปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็เพราะว่าในปี พ.ศ. 2501 กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 กำหนดให้ปืน ไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเป็นอาวุธ สำหรับใช้ในการสงคราม ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 55 ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยุติการออกใบอนุญาตทุกชนิดรวมทั้งใบ ป.4 ให้กับปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2501 เป็นต้นไป สำหรับ ในปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่กฎกระทรวงฉบับหลังๆ ก็ยังเดินตามรอยเดิมของกฎกระทรวงฉบับนี้

สรุปก็คือเรามาเริ่มห้าม "สั่งหรือนำเข้า" ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. พ.ศ. 2491 แต่ยังไม่ห้ามการออกใบ ป.4 และต่อมาก็ห้ามออกใบอนุญาตทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2501 เป็นต้นไป

ทีนี้เขามีหลักกฎหมายอยู่ว่ากฎหมายที่เป็นคุณเท่านั้นถึงจะมีผลย้อนหลัง ส่วน กฎหมายที่เป็นโทษจะต้องใช้บังคับกับเรื่องที่เกิดภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนั้นๆ มีผลใช้ บังคับ ดังนั้น คนที่เขามีใบ ป.4 อยู่แล้ว ก็คงไม่มีปัญหาอะไรใช้ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุ แต่ปัญหาจะไปเกิดกับผู้รับโอน คือ ถ้าซื้อปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ เห็นมีใบ ป.4 เรียบร้อยถูกต้อง ทุกอย่าง ตอนทำเรื่องโอนก็ต้องดูทางลมกันให้ดีๆ อย่าซี้ซั้วทำเป็นองอาจกล้าหาญแบกปืน ขึ้นอำเภอไปทำเรื่องโอนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจจะหงายหลังกลับลงมาเอาง่ายๆ เอาเป็นว่าเรื่องกฎหมายพอแค่นี้ดีกว่านะครับ มาคุยกันเรื่องวินเชสเตอร์ โมเดล 1907 กระบอกนี้ดีกว่า

จริงๆแล้วปืนไรเฟิลระบบกึ่งอัตโนมัตินั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ตำราทางฝ่ายอเมริกันนั้นว่ากันว่า จอห์น บราวนิง เป็นคนสังเกตเห็นว่าในระหว่างที่ ยิงปืนจะมีก๊าซจำนวนมากพุ่งตามกระสุนออกมา จึงเกิดความคิดที่จะนำพลังงานจาก ก๊าซนั้นมาช่วยส่งกระสุนนัดต่อๆไปเข้าไปในรังเพลิง และก็ได้นำแนวความคิดนี้มาผลิต เป็นปืนต้นแบบในขนาด .45-75 และได้รับทะเบียนสิทธิบัตรในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1892 หน้าตาของปืนที่ว่า ผมเอามาลงให้ดูแล้วในภาพที่ 4 ดูแล้วไม่ค่อยเหมือนปืนเท่าไหร่

ทีนี้ระบบการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติของปืนยุคแรกๆ ยังคงเป็นระบบโบล์วแบ็ก แบบเดียวกับปืนลูกกรดในทุกวันนี้ แต่เมื่อใช้กระสุนที่มีอานุภาพสูงขึ้น แรงอัดในรังเพลิง ก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดแรงผลักดันให้ลูกเลื่อนถอยอย่างรุนแรงจนรีคอยล์สปริงรับ ไม่ไหว ดังนั้น บราวนิงจึงได้ออกแบบให้เป็นระบบรีคอยล์ โดยจัดให้ลำกล้องปืนถอยหลัง มาเป็นระยะทางสั้นๆ เพื่อถ่วงเวลาให้แรงอัดในรังเพลิงลดลงเสียก่อน ต่อจากนั้นลำกล้อง จะยันกับโครงปืนหยุดอยู่กับที่ ปล่อยให้ปลอกกระสุนดันลูกเลื่อนถอยหลังต่อไปจนกระทั่ง เกิดการคัดปลอกกระสุน และบรรจุนัดใหม่ เข้าไปในรังเพลิง

แต่ปืนระบบโบล์วแบ็กก็ยังคงมีข้อดีอยู่ตรงที่มีชิ้นส่วนน้อยกว่า ลำกล้องยึดแน่นกับโครงปืน ไม่เคลื่อนที่ ช่วยลดชิ้นส่วนที่อาจจะหลวมคลอน และยังมีรีคอยล์น้อยกว่า เพราะไม่มี แรงกระแทกจากการที่ลำกล้องปืน ซึ่งเป็นเหล็กทั้งดุ้นถอยมากระแทกโครงปืนอีกด้วย ดังนั้น ในยุคแรกๆ ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติของอเมริกันจึงได้แยกออกเป็นสองแนวทาง คือ เรมิงตันใช้ระบบรีคอยล์ตามแนวทางการออกแบบของบราวนิง ทำให้ได้ปืนที่มีอานุภาพสูง ใช้กระสุนได้ถึง .35 เรมิงตัน และ .30 ซาเวจ ส่วนวินเชสเตอร์จะใช้ระบบโบล์วแบ็ก ของจอห์นสัน (Thomas Johnson) ทำให้ได้ปืนที่มีขนาดกะทัดรัดกว่าของเรมิงตัน แต่กระสุนมีอานุภาพต่ำกว่า

ไรเฟิลชนวนกลางแบบกึ่งอัตโนมัติ แบบแรกของวินเชสเตอร์คือ ปืนโมเดล 1905 ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆกับปืนกระบอกนี้ละครับ แต่ใช้กระสุน .32 WSL กับ .35 WSL กระสุน .35 เป็นกระสุนเซมิริม ส่วน .32 เป็นกระสุนแบบมีริมเหมือนกับกระสุนปืนลูกโม่ และกระสุน .32 WSL นี้เองที่เป็นต้นแบบของกระสุน .30 คาร์ไบน์ ที่ส่งเสียงดังตลอด สงครามโลกครั้งที่สอง ติดต่อกันมาถึงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม


ผู้เขียนยืนยิงในระยะ 25 เมตร
ด้วยกระสุนของเรมิงตัน 180 เกรน แบบหัวอ่อน

ถัดมาอีก 2 ปีวินเชสเตอร์ถึงได้ออกปืนโมเดล 1907 กระบอกนี้ขึ้นมา โดยเพิ่ม อานุภาพกระสุนขึ้นเป็น .351 วิน ซึ่งยืดปลอกกระสุนจาก .35 WSL ของเดิมยาว 1.14 นิ้วขึ้นไปเป็น 1.91 นิ้ว และปืนโมเดล 1907 นี่ละครับที่เป็นปืนซึ่งประสพความ สำเร็จมากที่สุด โดยผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 ติดต่อกันนานถึงห้าสิบปี แม้ว่าในอีกสามปีถัดมา วินเชสเตอร์จะออกปืนโมเดล 1910 โดยขยายกระสุนขึ้นไปเป็น .401 WSL แต่ก็ทำ ขายเพียงยี่สิบกว่าปีเท่านั้นเอง ไม่ได้ขายดิบขายดีเหมือนกับโมเดล 1907 กระบอกนี้

วินเชสเตอร์ โมเดล 1907 เริ่มผลิตขึ้นมาในปี ค.ศ. 1907 เมื่อบวกด้วย 543 ก็ตรงกับ พ.ศ.2450 คือเกิดก่อน พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ร.ศ. 131 คลอดออกมา 5 ปี พอดี ผมจึงไม่แปลกใจที่ปืนกระบอกนี้ตอก ก.ท. ด้วยเลขเพียงสามตัว ปืนรุ่นนี้นักเล่นปืน รุ่นคุณปู่จะเรียกว่า "ห้านัดกดแซ่" เข้าใจว่าที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะว่าปืนสมัยก่อนจะนิยม เก็บก้านแซ่เอาไว้ใต้ลำกล้อง (ปืนรุ่นใหม่อย่าง เช่น AK-47 ก็ยังเก็บก้านแซ่ไว้ใต้ลำกล้อง) พอเห็นวินฯ 1907 ใช้กดก้านขึ้นลำใต้ลำกล้อง ก็เลยเรียกว่าห้านัดกดแซ่เสียเลย

วินเชสเตอร์ทั้งสามโมเดลใช้ซองกระสุนแบบถอดออกจากตัวปืนได้ สำหรับ ปืนกระบอกนี้ซองกระสุนที่มากับปืนมีทั้งแบบ 5 นัดและ 10 นัด ลองเปิดตำนานดูประวัติ ของปืนแล้ว ซองกระสุนมาตรฐานของปืนรุ่นนี้จะเป็นแบบ 5 นัด ส่วนแบบ 10 นัดจะทำ เป็นอ็อพชั่นแยกขายต่างหาก โดยออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นไป

กระสุน .35 และ .351 ของวินเชสเตอร์ จะใช้หัวกระสุนเล็กกว่าของเรมิงตันนิดหน่อย คือของวินเชสเตอร์จะใช้หัวกระสุนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.351 นิ้ว แต่ .35 เรมิงตันจะใช้ 0.358 นิ้ว และก็คงต้องยอมรับนักเล่นปืนนิยมกระสุนของเรมิงตันมากกว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้กระสุนไรเฟิลในคาลิเบอร์ .35 อย่างเช่น .350 เรมิงตัน แม็กนั่ม, .35 วีเลน หรือแม้แต่ .356 วินเชสเตอร์ กับ .358 วินฯเองก็จะใช้เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.358 นิ้ว เหมือนกับ .35 เรมิงตันทั้งหมด

ปืนกระบอกนี้เราได้มาทดสอบโดยเจ้าของปืนเห็นว่าเป็นของแปลก อยากจะ แนะนำให้เพื่อนนักเล่นปืนอื่นๆได้รู้จัก จึงติดต่อส่งปืนมาให้ อวป. ทำการทดสอบ กระสุนที่ให้มากับปืนมีทั้งของวินเชสเตอร์ กับเรมิงตัน กระสุนของวินเชสเตอร์เป็นแบบ หัวแข็ง FMJ 180 เกรน หุ้มด้วยแจ็กเก็ตนิเกิลสีเงิน ส่วนของเรมิงตันเป็นกระสุนหัวอ่อน JSP แจ็กเก็ตทองแดงธรรมดา

ดูจากอานุภาพของกระสุนที่พอๆกับ .357 แม็กซิมั่มที่ยิงจากปืนยาว ผมจึงตัดสินใจ นำปืนวินเชสเตอร์กระบอกนี้มายิงในระยะเพียง 25 เมตร ซึ่งใกล้ที่สุดเท่าที่เราเคย ทดสอบไรเฟิลชนวนกลาง ปรากฏว่าอาจจะไกลไปด้วยซ้ำเพราะกระสุนวินเชสเตอร์ยี่ห้อ เดียวกับปืนด้านเกือบทุกนัด แถมนัดที่ลั่นออกไปก็ยังส่งเสียงไม่ค่อยจะหนักแน่นสมเป็น กระสุนไรเฟิลเสียเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะความเก่าแก่พอๆกับตัวปืนที่ตอก ก.ท. ด้วยตัวเลข เพียงสามตัว มาชื่นใจอีตอนที่เปลี่ยนเป็นกระสุนหัวอ่อนของเรมิงตัน เสียงกระสุนดัง สนั่นหวั่นไหว โทนเสียงออกแหลมคล้ายกับ .357 แม็กซิมั่ม แต่รีคอยล์นุ่มนวลมากพอๆ กับ .223 เท่านั้นเอง

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจกระบอกนี้ อยากทราบว่าเขาซื้อขายกันไปหรือยัง หรือว่ารับโอนกันสำเร็จหรือไม่ ลองแวะไปถามที่ ห้างฯ ปืนเพ็ญจันทร์ เพราะได้ข่าวว่าคนซื้อคนขายเขานัดมาเจอกันที่นั่น

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 330 เมษายน 2545 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com