ปืนต่อสู้ยอดนิยมแห่งยุค เสริมความแม่นยำด้วยลำกล้องและลำเลื่อนคัสตอม

ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่บริษัทกล็อกแห่งประเทศออสเตรีย ไม่เคยผลิตปืนขายมาก่อนเลย ตัดสินใจยื่นแบบปืนเข้าประกวดในโครงการของกองทัพออสเตรีย จัดซื้อปืนพกใหม่เพื่อเข้าประจำการแทนปืนพกหลายแบบที่ใช้อยู่เดิม
และไม่น่าเชื่อยิ่งกว่านั้นก็คือ ความกล้าหาญของกองทัพออสเตรียที่ไว้ใจเลือกปืน แบบใหม่เอี่ยมจากผู้ผลิตที่เพิ่งจะออกแบบปืนกับเขาเป็นครั้งแรกให้เป็นปืนประจำการได้


ลำเลื่อนเหล็กขาวฝีมือแคสเปี้ยน ประกอบกับโครงโพลิเมอร์ของกล็อก

กว่ายี่สิบปีมาแล้วครับที่ปืนกล็อกประกาศตัวให้โลกรู้จักหลังชนะประกวดได้สัญญาครั้งนั้น กล็อกที่แต่เดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตสารเคมีและวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ เปิดแผนกใหม่สำหรับงาน อาวุธปืนด้วยพนักงานเพียงแปดคนออกแบบ เขียนแบบ ทำปืนต้นแบบส่งให้คณะกรรมการพิจารณา หลังชนะประกวดจึงตั้งโรงงานใหม่ จ้างคนงานเพิ่ม จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตปืนกล็อก จนขยายตัวเปิดโรงงานเพิ่มในสหรัฐฯที่เป็นตลาดปืนพาณิชย์ใหญ่ที่สุดของโลก

ปืนกล็อกกลายเป็นปืนใหม่ที่ขายดีที่สุดในรอบศตวรรษ ด้วยระบบการทำงานที่แปลกใหม่
ไม่เหมือนใคร ให้ความปลอดภัยสูง เนื่องจากนกไม่ง้างจนกว่าผู้ใช้จะเหนี่ยวไก การออกแบบที่ใช้เข็มพุ่งกระแทก ช่วยลดจำนวนชิ้นส่วนลง การเลือกใช้โครงปืนโพลิเมอร์ เพราะมั่นใจในความเชี่ยวชาญด้าน วัสดุสังเคราะห์ของบริษัทกล็อกเอง ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงาน ในการกัดเซาะโลหะเหมือน โครงด้ามปืนแบบเดิมปืนมีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ การทำงานไว้ใจได้และความแม่นยำเหนือมาตรฐาน ปืนทหารทั่วไป

ข้อดีต่างๆ เหล่านั้น อาจจะยังไม่พอที่จะส่งผลให้ปืนใหม่กระบอกหนึ่ง เป็นที่ยอมรับของตลาด ก็ให้บังเอิญมีเหตุแทรกซ้อนสองกรณีหนึ่งคือการกระพือข่าวของสื่อมวลชนตะวันตกว่า
กล็อกเป็น "ปืนพลาสติก" ผ่านเครื่องตรวจจับโลหะตามสนามบินได้ เหมาะสำหรับ
ผู้ร้ายจี้เครื่องบิน (ทดสอบแล้วไม่เป็นความจริง) สองคือ ตำรวจอเมริกันถูกบังคับให้ใช้ปืน
"ดับเบิลล้วน" คือไกลากยาว ลดโอกาสปืนลั่นจากความเครียดของผู้ใช้ ทำให้ไกหนืดๆหยุ่นๆ ของปืนกล็อกกลายเป็นจุดเด่น สำหรับตลาดปืนผู้รักษากฎหมายของดินแดนลุงแซมไปในทันที

พวกหนึ่งซื้อเพราะปืนพลาสติกมันแปลกดี พวกหนึ่งซื้อเพราะสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีตัวเลือก
สำหรับปืนไกลากยาวแต่เมื่อใช้ๆ กันไปพบว่า เจ้าปืนใหม่แหวกแนวราคาประหยัดกระบอกน
ี้ ใช้ง่าย คล่องตัว ทำงาน ไว้ใจได้ แม่นยำเหลือกินเหลือใช้ น้ำหนักเบา แต่ยิงแล้วกลับคุมง่าย ฯลฯ ทำให้ปืนกล็อกขายดีอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

กล็อกเป็นปืนทหารยุคใหม่ที่แตกต่างจากปืน "คลาสสิก" 1911 ในหลายๆด้าน ตั้งแต่ กระบวนการผลิตที่ประหยัดกว่ากันมาก ทั้งด้านวัสดุ พลังงาน และความต้องการด้าน
ฝีมือแรงงาน ปืน 1911 สามารถยกเครื่องปรับแต่งเปลี่ยนอะไหล่ใช้งานได้หลายรอบ
กว่าที่ชิ้นส่วนหลัก คือโครงปืนกับลำเลื่อนจะหมดอายุ แต่ก็ต้องจ่ายค่าฝีมือช่างและอะไหล่ต่างๆ
มิใช่น้อย ส่วนปืนกล็อกนั้น ไม่มีจุดที่จะให้ปรับแต่ง ใช้วิธีถอดเปลี่ยนเป็นส่วนๆ ไปตามสภาพ เราจึงไม่ค่อยเห็นการดัดแปลงแต่งเติม ปืนกล็อกเหมือนที่เกิดกับปืน 1911 นะครับ

แต่จากการที่กล็อกไปเปิดโรงงานในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพของนักนิยมปืน
และช่างแต่งปืน จึงเกิดเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่จะใช้โครงปืนของกล็อกเป็นฐาน
ในการแต่งปืนคัสตอม สำหรับการใช้งานต่อสู้ป้องกันตัว และใช้แข่งขันระบบใหม่อย่าง IDPA ที่กำหนดลักษณะปืนให้เป็นปืนใช้งานพกพาได้จริง ไม่แต่งจนกลายเป็นเพียงเครื่องเจาะ
กระดาษเสียงดัง โครงปืนโพลิเมอร์จำเป็นต้องผลิตจากโรงงานใหญ่ ลงทุนสูงครับ และเมื่อตั้งโรงงานแล้วก็ต้องผลิตให้มากหน่อยจึงจะคุ้มทุน พอตลาดเริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว
ไม่ขยายต่อไปแล้ว กล็อกจึงมีโครงปืนเหลือขายให้โรงงานในระดับ SME
ซื้อไปสร้างปืนติดยี่ห้อตนเองได้


ผู้เขียนทดสอบที่ระยะ 15 เมตร ด้วยลูกบุลเล็ทฯ มีอาการกระดกหลังปืนลั่น

ปืนพกขนาด 9 มม. ของกล็อก รุ่นยอดนิยมก็คือ กล็อก 19 ซึ่งจัดเป็นขนาด "คอมแพ็ก"
(Compact) คือเล็กกว่าปืนทหารมาตรฐาน แต่ไม่เล็กจิ๋วถึงขนาดพกซ่อน ยังยิงง่ายคุมง่าย
ลำกล้องเกือบ 4 นิ้ว ได้ พลังงานของกระสุน 9 พาราฯ เต็มสภาพ ถือเป็นปืนอเนกประสงค์
ใช้งานได้หลาย รูปแบบตั้งแต่พกซองนอกก็ไม่เล็กจนน่าเกลียด พกในเสื้อก็ยังพอไหวไม่ใหญ่เกิน
ติดบ้าน ติดรถ เฝ้าร้าน ขนาดตัวพอใช้ข่มขวัญคนร้ายได้อาจไม่ต้องยิงจริง
และให้ความแม่นยำสูง ไม่แพ้ปืนลำกล้องยาว 5 นิ้วมาตรฐาน โครงขนาดกล็อก 19
จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม สำหรับช่างที่คิดจะสร้างปืนกล็อกในระดับคัสตอม จึงเป็นที่มาของปืนที่เห็นอยู่นี้นะครับ

ปืนทดสอบเดือนนี้ ด้านข้างลำเลื่อนสลักยี่ห้อ Caspian เด่นชัด พร้อมอักษร C ในวงล้อมของช่อใบไม้เป็นเครื่องหมายการค้าในทะเบียน เข้าใจว่าจะเป็นยี่ห้อ
"แคสเปี้ยน" นะครับ แต่ถ้าดูครึ่งล่างยังเป็น "กล็อก 19" ยอดนิยม ตรงนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหา กฎหมายปืนบ้านเรา ล้าสมัยนะครับ เพราะเลขประจำปืนจากโรงงานนั้นอยู่บนโครงปืน
แต่เราถือ "ยี่ห้อ" ที่อยู่บนลำเลื่อน โรงงานถือเป็นชิ้นส่วนที่หมดอายุแล้วเปลี่ยนใหม่ได้

แคสเปี้ยนเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในวงการนักแต่งปืน 1911 ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ช่วงล่าง"
คือโครงด้าม ความชำนาญของแคสเปี้ยนอยู่ที่การผลิตชิ้นส่วนโลหะ และการแต่งความ
ฟิตแน่นระหว่างโครงกับลำเลื่อน มีสิทธิบัตรเป็นของตนเองคือราง "แอ๊คคิวเรล" ที่ใช้ลวดเสริมในร่องจับลำเลื่อน สามารถถอดเปลี่ยนได้เมื่อสึกหรอ และแน่นอนว่า เมื่อแคสเปี้ยนสามารถผลิตโครงด้ามโลหะได้ ก็ย่อมมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสำหรับ ผลิตลำเลื่อนในระดับคุณภาพสูงเยี่ยมได้ด้วย เมื่อนำลำเลื่อนที่ว่ามาประกอบกับโครง กล็อก 19 จึงเป็นการยกระดับปืนใช้งานธรรมดา เพิ่มความสวยงามเข้าเทียบชั้นกับปืนแต่งได้บ้าง

ดูตัวปืนไล่จากด้ามขึ้นมาถึงขอบลำเลื่อน ในส่วน "ช่วงล่าง" เป็นกล็อก ไม่มีการดัดแปลงครับ ซองกระสุนเดิม ปุ่มปลดซองกระสุนเดิม ไก "เซฟทริกเกอร์" มีลิ้นให้นิ้วชี้แตะหน้าไก โกร่งไกด้านหน้าเป็นเหลี่ยม สำหรับให้จับยิงสองมือ หน้าด้ามมีร่องรับนิ้วสามร่อง แกะลายสี่เหลี่ยมเหมือนหลังด้าม และหน้าโกร่งไก สองข้างด้ามแต่งผิวหยาบ และโครงปืนด้านหน้าใต้ลำกล้อง (ส่วนกันฝุ่น) มีรางรับอุปกรณ์เหมือนฐานศูนย์วีเวอร์ พร้อมจะติดตั้งเลเซอร์หรือไฟฉายแรงสูงได้ตามต้องการ


เป้าทดสอบที่ระยะ 15 เมตร ลูกบุลเล็ทมาสเตอร์

ส่วนที่ทำให้ปืนกลายเป็น "แคสเปี้ยน" ก็คือลำเลื่อนกับลำกล้องครับ ตัวลำเลื่อน เป็นเหล็กปลอดสนิมแต่งผิวเรียบ ศูนย์หลังแบบยิงเป้าติดตั้งโดยเซาะร่องหางเหยี่ยว
ขวางโครง ฝังลึกไม่ให้ยื่นเกะกะศูนย์หน้า ฝังหลอดเรืองแสง ใช้สกรูยึดจากด้านใน
มีร่องกันลื่นด้านหลัง เซาะในแนวเกือบขนานกับมุมด้าม ด้านซ้ายลำเลื่อนสลักยี่ห้อ Caspian ด้านขวาเป็นขนาด กระสุน มีโลโก้ตัว C ล้อมด้วยช่อใบไม้อยู่สองข้างของลำเลื่อน
ใต้ศูนย์หลัง ความฟิตแน่นของลำเลื่อนกับโครงเหนือกว่ากล็อกธรรมดามากครับ
ไม่ถึงกับฟิตปั๋งอย่างปืน 1911 กระบอกละแสนกว่านะครับ ทดลองเล็งศูนย์คมชัดดี
แบบศูนย์ปืนยิงเป้า ไกแปดปอนด์ครึ่ง เบากว่าไกดับเบิลของลูกโม่ชั้นดี ถ้าต้องการเบากว่านี้ก็ต้องซื้อชุดแต่งไกของกล็อกมาเปลี่ยนนะครับ
ความเห็นส่วนตัวของผม สำหรับปืนต่อสู้ไก "ดับเบิล" ขนาดนี้ไม่หนักครับ
เรามักยิงแบบทำเวลา ไม่ใช่ค่อยๆ ปั้นเอ๊กซ์ทีละนัด

ลำกล้องของแคสเปี้ยนแตกต่างจากของกล็อกคือ แคสเปี้ยนใช้เส้นเกลียวแบบกลม ไม่ใช้เหลี่ยมบิดอย่างของกล็อกเดิม ลำกล้องเหลี่ยมบิดนั้น ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และดูแลทำความสะอาดง่ายกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนคือรีดผิวหัวกระสุนเป็นพื้นที่กว้าง ต่างจากลำกล้องเส้นเกลียวที่ "กัด" เฉพาะแนวเกลียวเป็นร่องแคบๆครับ ทำให้แรงดัน ในรังเพลิงของปืนที่ใช้ลำกล้องเหลี่ยมบิดสูงกว่าพวกลำกล้องใช้เส้นเกลียวเมื่อยิงกระสุน
แบบเดียวกัน และเมื่อพื้นที่สัมผัสมากกว่า ก็จะจับคราบตะกั่วของหัวกระสุนซ้อมยิงได้มากกว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปืนกล็อก เกิดอาการ "คะบู้ม" (kBoom) ตามที่เป็นข่าว ซึ่งเมื่อใช้ลำกล้องแบบเส้นเกลียวแทนไม่พบปัญหานี้

การยิงทดสอบที่สนามราชนาวี ผู้ทดสอบที่ลำบากหน่อยก็คืออาจารย์วีระครับ
เพราะไกยาวๆอย่างนี้ ไม่เหมาะกับการยิงมือเดียวครับ และน้ำหนักไกแปดปอนด์กว่า เมื่อต้องใช้ปลายนิ้วเหนี่ยวก็จะหนักเอาการ แต่สำหรับท่านอื่นที่ยิงสองมือไม่เป็นปัญหา ความแม่นยำเหนือกว่าปืนใช้งานทั่วไป คุมปืนง่ายเพราะสามารถจับด้ามได้สูง ภาพศูนย์ คมชัดเหมือนปืนยิงเป้า การทำงานเรียบร้อย ไม่มีปัญหาติดขัดทั้งลูกจริงลูกซ้อม

วิธีถอดทำความสะอาดเหมือนกล็อกครับ ปลดซองกระสุน ดึงลำเลื่อนตรวจ รังเพลิงให้แน่ใจว่าไม่มีกระสุนค้าง เหนี่ยวไก เป็นการลดสปริงขับเข็มแทงชนวน
ขยับลำเลื่อนถอยหลังเล็กน้อยอย่าให้ถึงจุดที่เซียร์ จะขยับเข้าจับเข็มฯนะครับ
กดสลักล็อกลำเลื่อน ลงด้านล่าง เลื่อนชุดลำเลื่อนพร้อมลำกล้อง ออกด้านหน้า แยกลำกล้อง
สปริงลำเลื่อน พร้อมแกนออกจากลำเลื่อน สำหรับทำความสะอาดทั่วไปถอดเท่านี้ครับ
ประกอบกลับย้อนกับการถอด

สรุปสำหรับแคสเปี้ยน/กล็อก กระบอกนี้ เหมาะสำหรับท่านที่ต้องการปืนใช้งานคล่องตัว
ลูกดก ใช้ได้ทั้งในลักษณะพกซองนอกและซ่อนในชายเสื้อ ความประณีต สวยงามเหนือกว่าปืนระดับตลาดความแม่นยำสูง ใช้ง่ายไม่มีปุ่มห้ามไก แต่ยังคง ความปลอดภัยสูงสุดเหมือนลดนกไว้ตลอดเวลาครับ จะหล่นจะขว้างจะกระแทกกระแทน
รับรองไม่ลั่น มีแต่เหนี่ยวไกเท่านั้นครับ ตัวจริงดูได้ที่ ห้างฯ ปืนเทเวศร์ เลขที่ 2/5
ดิโอลด์สยามพลาซ่า ถนนบูรพา กรุงเทพฯ 10200 โทร. 0-2222-7537, 0-2623-7061 ราคาแปดหมื่นกลางๆ ครับ

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 330 เมษายน 2545 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com