ปืนสั้นออโตขนาดจิ๋ว เพื่อพกซุกซ่อน และป้องกันตัวในสถานการณ์คับขัน

ตั้งแต่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์อาวุธปืนขึ้นมาใช้สำหรับป้องกันตัว ล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ตลอดจนรุกรานมนุษย์และสัตว์ ซึ่งอาจถือว่าเป็นการป้องกันตัวไว้ล่วงหน้าแล้ว อาวุธปืนก็ได้รับการคิดค้นออกแบบสร้างอย่างต่อเนื่อง จนเกิดมีอาวุธปืนขึ้นมามากมาย หลายรูปแบบและหลากชนิด รวมทั้งขนาดเล็กใหญ่และสั้นยาวแตกต่างกันไป เหตุผลที่อธิบายได้อย่างง่ายๆก็คือ เพื่อให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งานนั่นเองครับ ถึงแม้จะไม่ต้องทำประชาพิจารณ์หรือออกแบบสอบถาม ออกไปสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล มาประมวลผล ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าประชากรชาวโลกส่วนใหญ่ต้องลงความเห็นว่าอาวุธปืนที่เหมาะสม สำหรับใช้งานในสถานการณ์ทั่วไปก็คือ อาวุธปืนสั้นหรือปืนพก (ความจริงถ้าจะให้ทันสมัย น่าจะเรียกว่า "ปืนมือถือ" มากกว่านะครับ) เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าผู้เขียนตีขลุมเอาเอง ทั้งนี้เพราะว่าปืนสั้น มีลักษณะสะดวกต่อการใช้มากที่สุด แต่บางทีสภาพการดำรงชีพประจำวันต้องการอาวุธปืนป้องกันตัว ที่มีลักษณะจำเพาะยิ่งไปกว่านั้นอีก จึงได้มีการออกแบบปืนพกขนาดจิ๋วขึ้นอีก ส่วนมากก็มีกลไกสร้างง่ายๆ เมื่อเทียบกับปืนสั้นขนาดเต็มมาตรฐานตามปกติ ตัวอย่างปืนขนาดเล็กจิ๋วที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ได้แก่ ปืนเดอร์ริงเจอร์ แต่ต่อมาเมื่อความเจริญในด้านโลหะและวิทยาการมากขึ้น ผู้ผลิตอาวุธปืนก็สามารถทำปืนขนาดเล็กให้มีกลไกเหมือนๆกับปืนขนาดปกติได้ และปฏิบัติการ ก็เชื่อถือไว้วางใจได้ไม่แพ้กัน ยกเว้นต้องใช้กระสุนขนาดเล็กลงเท่านั้น แต่ในด้านกระสุนปืนเองก็ยังมีการพัฒนาให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพดีขึ้นเช่นเดียวกัน


ภาพด้านซ้ายของเบเร็ตต้า 950BS เจ็ทไฟร์

ในบรรดาปืนสั้นออโตขนาดจิ๋วที่ใช้กระสุนขนาด .22LR หรือขนาด .25 ACP หรือ 6.35 มม. บราวนิงก็เรียกกันนั้น ปืนสั้นออโตยี่ห้อเบเร็ตต้าได้รับความนิยมจากผู้ใช้ปืนมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง มีทั้งแบบที่ใช้กระสุน .25 ACP หรือ .25 ออโต และ .22LR แต่ในหนังสืออาวุธปืนฉบับที่ 328 ต้อนรับตรุษจีนปี 2545 นี้ ผู้เขียนจะรายงาน การทดสอบเบเร็ตต้า 950 BS เจ็ทไฟร์ ขนาด .25 ACP ซึ่งเป็นแบบสเตนเลสส์ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบต่อไป ปืนสั้นออโตของเบเร็ตต้าในปัจจุบัน ที่ใช้กระสุนตั้งแต่ขนาด .380 ลงมา ใช้ระบบหักลำกล้องให้ท้ายรังเพลิงดีดตัวขึ้นมา แล้วหยิบกระสุนนัดแรกใส่ในรังเพลิงด้วยมือ แต่ระบบหักลำกล้องของเบเร็ตต้านี้ไม่มี บานพับอยู่แถวๆโคนลำกล้องเหมือนปืนหักลำทั่วๆไป และไม่ใช่เป็นปืนบรรจุนัดเดียว แต่บานพับของลำกล้องจะอยู่ตรงบริเวณปากกระบอก และแม็กกาซีนก็บรรจุกระสุน หลายนัดเช่นปืนสั้นออโตธรรมดาแบบอื่นๆ ก่อนที่เบเร็ตต้าจะไปตั้งโรงงานผลิตปืนในสหรัฐอเมริกานั้น ปืนออโตปฏิบัติการแบบหักลำให้ท้ายรังเพลิงดีดตัวขึ้นเพื่อให้ใส่กระสุน นัดแรกเข้ารังเพลิงเป็นลูกล่อจะมีเฉพาะแต่ปืนรุ่นที่ใช้กระสุน .25 ACP หรือ .22 เท่านั้น แต่เมื่อบริษัท เบเร็ตต้า ยู.เอส.เอ. คอร์ป. ในสหรัฐฯ เห็นว่าหากปืนที่ใช้กระสุนต่ำกว่า 9 มม.ลงมาใช้ระบบนี้ ก็จะทำให้ปืน กะทัดรัดขึ้นและมีชิ้นส่วนน้อยลง จึงได้ผลิตปืนดังกล่าวขนาด .32 ACP และ .380 ACP แล้วใช้ชื่อสัตว์ป่าตระกูลแมวตั้งเป็นชื่อรุ่นให้ฟังดูปราดเปรียวดี

ส่วนเบเร็ตต้า 950 BS ซึ่งเป็นปืนขนาด .25 ACP ยังใช้ชื่อว่า เจ็ทไฟร์ เหมือนเดิม เป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ซิงเกิลแอ๊คชั่น นกนอก ซึ่งใช้กระสุนชนวนกลางที่มีขนาดเล็กที่สุด ทำให้ตัวปืนมีขนาดเล็กจิ๋วไปด้วย ซึ่งก็เหมาะสมที่จะพกแม้แต่ใส่กระเป๋าเสื้อ ซุกอยู่กับผ้าเช็ดหน้า หรือเหน็บไว้ที่ใดๆ ใน สภาพการแต่งกายธรรมดาได้โดยไม่มีพิรุธ เพราะตัวปืนมีความยาว 4.5 นิ้ว น้ำหนักปืนเปล่าเพียง 8 ออนซ์ แต่มีลำกล้องยาว ถึง 2.5 นิ้ว ยาวกว่าปืนลูกโม่ลำกล้องสั้น ที่มีลำกล้องเพียง 2 นิ้วเสียอีก จึงทำให้ปืน มีอานุภาพสังหารวางใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะถ้าหากพยายามหนีภัยแล้ว เกิดไปเจอกำแพงสูง ก็จะได้ไม่ถึงกับอับจนเสียทีเดียว ลักษณะรูปร่างของปืนนั้นได้รับการออกแบบ ให้มีปุ่มหรือคันบริหารกลไกใกล้เคียงกับปืนขนาดปกติ ยกเว้นไม่มีคันค้างลำเลื่อนกับไม่มีขอรั้งปลอกกระสุน แต่มีคันปลดท้ายลำกล้องให้ดีดขึ้นเข้ามาแทน ซึ่งติดตั้งไว้ที่โครงปืนเหนือไก รูปร่างคล้ายคันนิรภัยของ ปืนขนาดเล็กสมัยเก่าของยุโรป จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิรภัยก็ได้ เพราะถ้า ลำกล้องดีดตัวยกท้ายรังเพลิงขึ้นแล้ว ปืนก็ยิงไม่ได้ครับ

สภาพรูปร่างของเบเร็ตต้า เจ็ทไฟร์ โดยรวมแล้วดูสวยงามเหมาะสมอยู่ในตัวเองไม่น้อย ในสายตาของผู้เขียนแล้ว โครงปืนส่วนหน้ากับโกร่งไกน่าจะออกแบบให้ดูสวยงามกลมกลืนกว่านี้ ความสวยงามกับการใช้ประโยชน์บางครั้งก็สามารถไปด้วยกันได้ แต่ส่วนมากมักไปด้วยกันไม่ค่อยจะได้ครับ และมักจะต้องแลกกันอยู่เสมอ อย่างกรณีโกร่งไกของเบเร็ตต้า 950 BS กระบอกนี้ ต้องทำหน้าที่เป็นสปริงดีดท้ายลำกล้อง นอกเหนือจากใช้เป็นโกร่งไกตามปกติ จึง ออกแบบให้สวยงามดูสมส่วนได้ยาก โครงปืนส่วนหน้าใต้ปากลำกล้องก็เช่นกัน ต้องทำเป็นจุดยึดของบานพับลำกล้องให้ยกท้ายรังเพลิงได้คล่องตัว อีกทั้งต้องอำนวย ความสะดวกให้ลำกล้องโยกเอนไปข้างหน้า เพื่อให้ถอดลำเลื่อนออกจากโครงปืนได้อีกด้วยครับ

โครงปืนทำด้วยอะลูมินั่มเกรดสูง แต่งผิวด้วยกรรมวิธีอโนไดซ์ให้มีสีขาวเหลือบเทานิดๆ เพื่อให้มีสีกลมกลืนกับ ลำเลื่อนและลำกล้องซึ่งเป็นเหล็กสเตนเลสส์ ด้ามยางสังเคราะห์สีดำยึดไว้กับโครงด้ามด้วยสกรูข้างละตัว ปุ่มปลดแม็กกาซีนอยู่ตรงส่วนหลังโครงด้าม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของปืนสั้นออโตเบเร็ตต้าได้อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนชอบ มากกว่าแบบที่ทำเป็นตะขอยึดฐานแม็กกาซีนไว้ที่ส้นด้าม คันนิรภัยหัวแม่มืออยู่ในตำแหน่ง และบริหารได้เช่นเดียวกับปืนออโต 1911 ทำรูปร่างออกมาได้เหมาะเจาะสำหรับปืนขนาดจิ๋วอย่างนี้ และใช้งานได้สะดวกด้วยจังหวะเข้า "เซฟ" ได้ก็ต่อเมื่อง้างนกขึ้นมา จะเป็นง้างครึ่งหรือง้างสุดค้างไว้ก็ได้ทั้งสองอย่าง
ทำให้สามารถพกปืนแบบค็อกแอนด์ล็อกได้อีกด้วยครับ

ศูนย์ของเบเร็ตต้า 950 แทบจะไม่เรียกว่า "ศูนย์" ปืน เพราะมันเตี้ยมาก ศูนย์หน้าทำเป็นรูปครึ่งวงกลมติดอยู่กับลำกล้อง เพราะเหนือลำกล้องไม่มีส่วนของลำเลื่อนอยู่เลย ศูนย์หลังทำร่องบากเล็กๆ ลงไปบนสันลำเลื่อนที่ทำให้นูนขึ้นมาเล็กน้อย แต่เมื่อเล็งดูแล้วก็พออาศัยได้ไม่เลว ภาพศูนย์พอจะจับเป้าหมายได้ชัดพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ก็จัดว่าทำมาพอเพียงสำหรับวัตถุประสงค์การใช้งานแล้วครับ


ชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องถอดออกทำความสะอาดมีแค่นี้เอง

ผู้เขียนเคยได้ยินผู้ใช้ปืนบางท่าน เปรยๆว่า ปืนจิ๋วของเบเร็ตต้าหรือปืนโมเดล ที่ท้ายลำกล้องดีดตัวขึ้นมาให้ใส่ลูกล่อได้ ไม่มีขอรั้งปลอกกระสุน รู้สึกว่าอาจจะขลุกขลักมากก็ได้ ถ้ากระสุนนัดแรกซึ่งอยู่ในลำกล้อง หรือนัดที่เท่าไหร่ก็ได้เกิดด้านขึ้นมา จึงเกิด ความลังเลไม่ค่อยมั่นใจในการใช้ ผู้เขียนขออธิบายให้สบายใจว่า ปืนออโตไม่ว่าแบบใด รุ่นไหน ถ้ากระสุนในลำกล้องเกิดด้านยิงไม่ออกก็ต้องขลุกขลักทั้งนั้น คือต้องเอากระสุนด้านออกจากรังเพลิง แล้วป้อนกระสุนนัดใหม่เข้าไปแทน เพียงแต่ปืนเบเร็ตต้า 950BS หรือเบเร็ตต้ารุ่นที่หักลำท้ายลำกล้อง ดีดขึ้นได้ต้องปลดท้ายลำกล้องให้มันยกขึ้น เพื่อจะเอากระสุนออกจากรังเพลิงเพิ่มขึ้นอีกจังหวะหนึ่งเท่านั้น และเพื่อไม่ให้เสียเวลาต้องหยิบกระสุนออก จงหันปืนให้ลำกล้องชี้ขึ้นข้างบนแล้วเทกระสุนในลำกล้องให้หลุด ร่วงออกมา แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ พอถือปืนลำกล้องชี้ข้างบนแล้วรีบใช้ฝ่ามืออีกข้างตบเข้าที่มือถือปืน กระสุนจะต้องร่วงออกมาแน่นอน กดท้ายลำกล้องลงให้ล็อกเข้าที่ แล้วดึงลำเลื่อนไปจนสุด ปล่อยให้มันป้อน กระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิง แล้วเหนี่ยวไกยิงต่อไป ข้อสำคัญอย่าใช้มือหยิบกระสุนออก จากรังเพลิงแล้วใช้มือควานหากระสุนนัดใหม่ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงหยิบมาใส่รังเพลิงด้วยมืออีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาไปอย่างมากมาย บางท่านก็บอกว่าถ้าใส่กระสุนไว้ในรังเพลิง แต่ไม่อยากเตรียมพร้อมขนาดที่ต้องพกแบบง้างนกแล้วเข้าเซฟไว้ หรือแบบค็อกแอนด์ล็อกแล้ว จะหันไปใช้ระบบนิรภัยแบบง้างนกไว้ครึ่งหนึ่ง มันก็ให้รู้สึกเสียวๆ ว่าปืนจะลั่นอย่างไรชอบกล เพราะไม่มีสมอล็อกเข็มแทงชนวนเหมือนปืนยุคใหม่ทั่วไป ข้อนี้ผู้เขียนขอให้สบายใจได้ครับ เพราะปืนสั้นออโตนกนอกที่มีจังหวะฮาล์ฟค็อก หรือง้างนกไว้ครึ่งทางทั้งหลายนั้นมีแง่หรือ บากล็อกนกสับไว้กับเซียร์เพื่อป้องกันไม่ให้นกสับฟาดไปถึงท้ายเข็มแทงชนวน ในกรณี ง้างนกหรือลดนกแล้วนกหลุดจากนิ้วมือไป แต่ถ้าหากมีสิ่งใดมากระทบนกสับในจังหวะนี้ แล้วทำให้ปืนลั่นได้ แสดงว่าต้องทำให้แง่หรือบากฮาล์ฟค็อกหักหรือบิ่นไป ซึ่งต้องกระทบรุนแรงมากมายจึงจะเกิดลั่นขึ้นได้ครับ

เพราะฉะนั้น ในเรื่องอาวุธปืนมีอยู่หลายกรณีที่ความรู้สึกของคนเรากับ ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกันเสมอไป และมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้ใช้ปืนไม่ได้ให้ความสนใจ บำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามสมควร แล้วลงความเห็นว่าปืนยี่ห้อนั้นหรือรุ่นนี้มักชอบติดขัด หรือขัดลำเก่งอะไรทำนองนี้ โดยเฉพาะปืนประเภทออโตมักตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ เพราะมีระยะทางเคลื่อนไหวไกลกว่าปืนลูกโม่ อย่างไรก็ตาม การเลือกชนิดหรือประเภทของ ปืนที่มีข้อดีให้ตรงกับความต้องการใช้งาน นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และนี่คือเหตุผลหลักที่นักนิยมปืนจริงๆ ไม่ได้มีปืนเพียงกระบอกเดียวครับ

เมื่อลองบริหารกลไกเบเร็ตต้า 950 BS โดยการดึงลำเลื่อนถอยหลัง พบว่าสปริง รีคอยล์ค่อนข้างแข็งและจับลำเลื่อนไม่สู้ถนัดนัก แต่ไม่เป็นปัญหากับผู้ใด เพราะกระสุน นัดแรกไม่ต้องป้อนเข้ารังเพลิงโดยวิธีนี้อยู่แล้วครับ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือแรงเหนี่ยวไกวัดได้ถึง 8 ปอนด์ ทั้งๆที่เป็นปืนซิงเกิลแอ๊คชั่น สาเหตุดูแล้วมาจากสปริงนกสับค่อนข้างแข็ง สำหรับปืนขนาดจิ๋วอย่างนี้ เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัยเป็นหลักใหญ่ คือไม่ให้ง้างนกโดยไม่ตั้งใจจนง่ายเกินไป และให้มั่นใจว่ากระสุน จะต้องสับแตกทุกนัด ยกเว้นแต่กระสุนด้านจริงๆเท่านั้น สำหรับความรู้สึกขณะเหนี่ยวไก ไม่สู้หนักหนาอะไรนัก สุภาพสตรีหรือใครก็ตาม ถ้ายกปืนขึ้นแล้วชี้ไปที่เป้าได้ รับรอง ว่าเหนี่ยวไกปืนกระบอกนี้ได้แน่นอน นอกเสียจากหมดแรงจนยกปืนไม่ขึ้นเท่านั้นครับ

ก่อนการยิงทดสอบนั้น ผู้เขียนออกจะหวั่นๆอยู่ว่าปืนจะมีปัญหาเรื่องการป้อนลูกจากแม็กกาซีนหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นปืนสั้นออโตขนาด 6.35 มม. บราวนิง หรือขนาด .25 ออโต มักจะป้อนกระสุนไม่สู้จะเรียบร้อยนัก โดยเฉพาะปืนที่ทำเลียนแบบปืนบราวนิง "เบบี้" พอได้บรรจุกระสุนลง แม็กกาซีนก็ค่อยเบาใจลงไปบ้าง เพราะแม็กกาซีนทำเรียบร้อยดีมาก และสปริงแม็กฯไม่แข็งหรืออ่อนไป การหดตัวยืดตัวของสปริงไม่รู้สึกฝืดหรือสะดุดครับ เสร็จแล้วออกไปยิงที่ระยะประมาณ 7 เมตร ครั้งแรก ยิงไปที่เป้าตาวัว ไม่ได้หวังอะไรมากกับปืนประเภทนี้ ไม่ว่ายี่ห้อไหนๆ เอาว่าทำกลุ่ม ไม่หลุดดำก็ดีมากแล้ว ซึ่งเบเร็ตต้า 950 BS ก็ทำกลุ่มได้อย่างนั้น เพียงแต่สายตาผู้เขียนค่อนข้างกินซ้าย ต่อไปก็ลองยิงมือเดียว ไปยังเป้าหุ่นรูปคนที่ระยะเดียวกัน โดยยิงในแบบพอยท์ ชู้ตติ้ง เร่งเวลาขึ้นเล็กน้อย ผลการยิงน่าพอใจทีเดียว ผู้ทดสอบท่านอื่นๆ ก็ยิงได้ผลอยู่ในระดับเดียวกัน ปฏิบัติการของปืนเรียบร้อยดี ไม่มีนัดไหนสะดุดเลย แต่สังเกตว่าปลอกกระสุนดีดออกไม่ไกลนัก แสดงว่าสปริงรีคอยล์ออกแบบมาเผื่อให้ใช้กระสุนแรงๆได้ ไม่ต้องกังวลครับ อาจจะเป็นแบบยิ่งแรงยิ่งดีก็ได้นะครับ ซึ่งความจริงแล้ว กระสุนปืนที่ผลิตในระยะหลังๆนี้อัดได้แรงขึ้นกว่าเดิม


ดร.เทียนชัย ยิงเป้า NRA โดยจับปืนสองมือ ที่ระยะ 7 เมตร เพราะลำกล้อง สั้นขนาดนี้ จะไปยิงเป้าที่ 25 เมตร คงได้กลุ่มไม่ผิดกับปืนลูกซองแน่นอน

สรุป เบเร็ตต้า โมเดล 950 BS ขนาด .25 ACP (มีขนาด .22 ชอร์ต ในปืนรุ่นเก่าด้วย) เป็นปืนสั้นออโตขนาดจิ๋วที่เหมาะ สำหรับใช้ป้องกันตัวในสถานการณ์คับขันได้ดียิ่ง โดยเฉพาะถ้าวางกระสุนให้ตรงตำแหน่ง ที่สำคัญเป็นปืนที่ใช้ยิงเพื่อชีวิตโดยแท้จริง แม้มีขนาดเล็กจิ๋วแต่จับถือเล็งยิงได้ถนัดพอสมควร ทำให้มั่นใจในการใช้งานกลไก ปฏิบัติการไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย สุภาพสตรี ก็ใช้ได้สะดวก น้ำหนักค่อนข้างเบา ผู้เขียน ลงความเห็นให้ท่านไม่ได้ว่าท่านควรมีไว้ติดตัวหรือไม่ ท่านต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของท่านเอง แต่เท่าที่ผู้เขียนพบมา นักนิยมปืนแทบทุกคน แม้บางคนจะมีปืนขนาดหนักๆ ก็ยังพกปืนเล็กจิ๋วประเภทนี้ ตามความเห็นของผู้เขียน ปืนขนาดจิ๋วของเบเร็ตต้าน่าจะไม่มีปืนใดเหมาะสมยิ่งกว่านี้
ห้างฯ ปืนรัตนา 105 สี่แยกอุณากรรณ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ 10200
โทร. 0-2221-4638, 0-2222-3054, 0-2222-0314 เป็นผู้ส่งเข้าทดสอบครับ

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 329 มีนาคม 2545 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com