ปืนเออร์มา อีจีเอ็ม-1 สปอร์ต
ปืนลูกกรดหุ่นเลียนแบบคาร์ไบน์ เอ็ม 1

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการานด์ เอ็ม 1 เป็นปืนไรเฟิลระบบกึ่งอัตโนมัติแบบแรกที่เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ปืนการานด์ใช้กระสุนขนาด .30-06 ซึ่งเป็นกระสุนแรงสูงมีอำนาจสังหารไม่น้อยหน้ากระสุนปืนไรเฟิลร่วมสมัยกันอยู่ในยุคนั้น ซึ่งทั้งหมดยังเป็นปืนระบบลูกเลื่อนอย่างเช่น .303 บริติชของอังกฤษ, 7.92x57 มม. ของเยอรมัน หรือว่า 7.62x54R ของรัสเซีย แถมปืนการานด์ยังบรรจุกระสุนได้ถึง 8+1 นัด แล้วยังมีข้อได้เปรียบ ที่เมื่อกระสุนหมด ปืนจะแขวนลูกเลื่อนพร้อมๆกับดีดตับกระสุนเปล่าออกมาจากตัวปืน คนยิงเพียงแต่ กดตับกระสุนชุดใหม่เข้าไป แทนที่ปืนก็พร้อมที่จะยิงต่อไปอีก 8 นัดได้ทันที แต่จุดด้อยก็คือการานด์มีน้ำหนักตัวเปล่าหนัก ถึง 9.5 ปอนด์ ซึ่งจัดว่าหนักเอาการอยู่ ดังนั้นหลังจากที่ปืนการานด์เข้าประจำการได้ เพียง 2-3 ปีกองทัพสหรัฐฯก็ได้มีความต้องการอาวุธน้ำหนักเบา ขึ้นมาเสริมอีกสักแบบหนึ่ง ให้มีอานุภาพอยู่ในระหว่างปืนไรเฟิลกับปืนพก แต่ต้องยิงได้แม่นยำกว่าปืนกลมือ โดยในระยะแรกได้กำหนดสเป๊กคร่าวๆ เอาไว้ว่าให้ใช้ยิงหวังผลได้ใน ระยะ 300 เมตร ควรจะมีน้ำหนักประมาณ 5 ปอนด์, ขนาดกว้างลำกล้อง .25 ขึ้นไป และควรจะเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติที่บรรจุ กระสุนได้ 5 ถึง 7 นัด

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 ความต้องการของกองทัพก็ได้รับการสนองตอบอย่างเกินความคาดหมาย วินเชสเตอร์ได้ส่งต้นแบบของปืนคาร์ไบน์เอ็มวัน จำนวน 9 กระบอกมาให้กองทัพทำการทดสอบน้ำหนักออกจะเกินพิกัดไปเล็กน้อย แต่ก็ชดเชยได้ด้วยซองกระสุนที่บรรจุได้มากถึง 15 นัด และยังเพิ่มขึ้นเป็นซองกระสุนแบบโค้งบรรจุ 30 นัดในเวลาต่อมา กระสุนที่วินเชสเตอร์เลือกมาใช้กับปืนคาร์ไบน์ เอ็มวันเป็นกระสุนที่พัฒนามาจากกระสุน .32 WSL (Winchester self loading) โดยนำ มาปรับปรุงทำจานท้ายเป็นแบบริมเลส ใช้หัวกระสุนมนกลมแบบเดิม แต่ลดขนาดลงมาเหลือ .308 นิ้วเท่าๆกับหัวกระสุน .30-06 แต่หัวกระสุนเบากว่าคือมีน้ำหนักเพียง 110 เกรน และทำความเร็วได้ 1,970 ฟุต/วินาที

ทางกองทัพพอใจในปืนแบบนี้ สั่งผลิตงวดแรกทีเดียวห้าแสนกระบอก และเมื่อสหรัฐฯเข้าสู่สงครามเต็มตัว ความต้องการปืนแบบนี้ก็ทวีเพิ่มขึ้นไปอีก โดยในปี ค.ศ. 1942 ปืนคาร์ไบน์เอ็ม 1 มีอัตราผลิตตกเดือนละ 45,000 กระบอก และเพิ่มเป็น 60,000 กระบอกต่อเดือนในปี ค.ศ. 1943 พอจบสงครามโลกครั้งที่สองยอดผลิตปืนแบบนี้นับรวมกันได้ถึงหกล้านกระบอก เฉพาะ ฝีมือของวินเชสเตอร์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดก็ร่วมๆล้านกระบอก ที่เหลือส่วนใหญ่จะผลิตโดยโรงงานในเครือของเยนเนอรัลมอเตอร์ และที่แปลกก็คือมีปืนจำนวน 346,500 กระบอกที่ผลิตโดยบริษัท IBM

ปืนคาร์ไบน์ในตระกูลนี้แตกรุ่นย่อยๆ ออกไปได้อีกมากมายหลายรุ่น อย่างเช่น เฉพาะในรุ่น M1 เองก็ยังมี A2, E2, E5, E6, E7 ซึ่งจะแตกต่างกันที่ระบบศูนย์หรือว่า เป็นเรื่องของกรรมวิธีผลิตโครงปืนหรือไม่ ก็เป็น M1 แบบลำกล้องยาวสำหรับโรงงาน ผลิตกระสุนเอาไว้ใช้เพื่อทดสอบการเผาไหม้ของดินส่งกระสุน นอกจากนั้นก็ยังมี M1 พับฐานอย่างเช่น A1, A3, E1, E3 และ E4 แถมด้วยของไฮเทคอย่างเช่นปืนในรุ่น E3 ซึ่งเป็นปืนคาร์ไบน์ติดกล้องอินฟราเรดสำหรับใช้ในงานสไนเปอร์กลางคืนอีกด้วย

ว่าแต่ว่าเรากำลังพูดถึง M1 แล้วก็ข้ามไปถึงรุ่น M3 เลยจริงๆ ยังมีรุ่น M2 ซึ่งเป็นของสำคัญอยู่อีกรุ่นหนึ่ง เนื่องจากเป็นปืนคาร์ไบน์ที่มีสวิตช์ อยู่ตรงท้ายโครงปืนทางด้านซ้ายให้เลือกยิงในระบบออโต นัยว่าเพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจการยิง และยังสอดคล้อง กับนโยบายส่งเสริมการขายของโรงงานผลิตกระสุนอีกด้วย

M2 เป็นคาร์ไบน์รุ่นที่ผลิตโดยวินเชสเตอร์โดยเริ่มทำออกมาในปี ค.ศ. 1944 ปืน M2 คลอดพร้อมกับซองกระสุนแบบโค้ง บรรจุ 30 นัดเรียกว่าลูกดกเป็นสองเท่าของซองกระสุนเดิม แล้วต่อมาในระยะหลังกองทัพสหรัฐฯก็ยังได้ผลิตชุดคิตแบบ T17 ออกมาจ่ายให้กับหน่วยต่างๆ นำไปปรับปรุงปืนรุ่น M1 ของเดิมให้มีสวิตช์เลือกยิงออโตได้แบบเดียวกับ M2

ปืนคาร์ไบน์เอ็มวันกับปืนการานด์ M1 ต่างก็เป็นปืนที่ทำงานด้วยก๊าซด้วยกัน ลูกเลื่อนบิดตัวขัดกลอนเหมือนกันก็จริง แต่มีหลักการทำงานแตกต่างกัน อยู่มากพอสมควร กล่าวคือปืนการานด์ใช้ระบบลูกสูบช่วงชักยาว เมื่อก๊าซที่เกิดจากการจุดระเบิดเข้ามาดันลูกสูบ ก้านสูบจะดันให้ลูกเลื่อนบิดตัวปลดกลอน แล้วก็ดันลูกเลื่อนลากยาวถอยหลังมาจนสุด จากนั้นรีคอยล์สปริงถึงจะดันลูกเลื่อนเดินหน้าเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงตามวงรอบการทำงานต่อไป หลักการนี้ทำให้ต้องเจาะรูก๊าซเอาไว้แถวๆปากลำกล้อง ซึ่งมีข้อเสียอยู่ตรงที่บริเวณนั้นแรงอัดของก๊าซลดลงไปมากแล้ว แถมการที่รูก๊าซอยู่ปากลำกล้องยังมีโอกาสที่สิ่งสกปรกภายนอกจะถูกดูดเข้ามาอุดตันรูก๊าซได้ง่าย เนื่องจากช่วงที่หัวกระสุนหลุดออกจากลำกล้อง แรงอัดในลำกล้องหมดไปแล้วก็จะเกิดสูญญากาศขึ้นมาวูบหนึ่ง ทำให้มีการดูดอากาศข้างนอกกลับเข้ามาซึ่งอาจจะมีฝุ่นผงปะปนเข้ามาด้วย

แต่ในกรณีของคาร์ไบน์เอ็มวันจะใช้หลักการของลูกสูบช่วงชักสั้น โดยจัดให้ลูกสูบถอยหลังมาเพียงเล็กน้อย เพื่อทำหน้าที่ปลดกลอนลูกเลื่อนเท่านั้น หลังจากนั้นเป็นเรื่องของแรงอัดในลำกล้องจะทำหน้าที่ดันลูกเลื่อนถอยหลังต่อไปจนสุด หลักการนี้ทำให้สามารถเจาะรูก๊าซเอาไว้ที่โคนลำกล้องซึ่ง ณ บริเวณนี้ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้จะยังคงมีความร้อนแรงและสะอาดหมดจดกว่าบริเวณปากลำกล้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ปืนจะเกิดการขัดข้องลงไปได้

ปืนคาร์ไบน์เอ็มวันดังขนาดว่าพอสงครามเลิกก็ยังมีโรงงานผลิตอาวุธปืนอีกหลายโรงงาน อย่างเช่น ไอเวอร์ จอห์นสัน, เพลนฟิลด์ หรือยูนิเวอร์แซลได้ผลิตปืนคาร์ไบน์เอ็มวันออกมาขายในเชิงพาณิชย์ บางรายถึงกับทำออกมาเป็นปืนสเตนเลสส์ก็ยังมี แต่ส่วนใหญ่แล้วปืนต่างๆ ที่เป็นลูกหลานของคาร์ไบน์เอ็มวันก็ยังคงใช้กระสุน .30 คาร์ไบน์เหมือนกับปืนทหาร มีเพียงบางรายเท่านั้นที่หันไปผลิตออกมาในขนาดกระสุนอื่นๆ

ส่วนเออร์มาเองต้องถือว่าเป็นคู่สงครามกับวินเชสเตอร์ เนื่องจากเออร์มาเป็นโรงงานผลิตอาวุธปืนของเยอรมันที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วง ที่ฮิตเลอร์เริ่มจะก้าวขึ้นมาสู่อำนาจ งานแรกๆของเออร์มาจะเป็นการผลิตชุดลำกล้องลูกกรดให้กับปืนพาราเบลลัม ก็อย่างว่าละครับประเทศเขาแพ้ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็เลยโดนคนชนะเขาวางกติกามารยาทเอาไว้มากมายเพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมันสร้างสมกำลังทหารได้อีก ก็เลยต้องใช้ปืนเก่าๆนี่ละครับ เอามาปรับปรุงเพื่อฝึกหัดศึกษากันไปพลางก่อน

พอเสร็จสงครามโลกครั้งที่สอง เออร์มาหันกลับมาทำงานที่ตัวเองถนัด คือ ผลิตปืนลูกกรดในรูปร่างของปืนสงคราม เป็นการขายของหาเงินเข้าประเทศ ลูกค้ารายใหญ่ก็คืออเมริกาคู่สงครามเก่านั่นละครับ ปืนของเออร์มาในส่วนของปืนสั้นจะเป็นปืนในหุ่นของพาราเบลลัม หรือไม่ก็ปืนโคลท์ M1911 ย่อส่วนลงมาใช้กระสุนลูกกรด ส่วนปืนยาวก็จะเป็นปืนเลียนแบบคาร์ไบน์ เอ็มวัน โดยเออร์มาจะเรียกว่า EM1 แต่ ความจริงแล้วจะว่าเออร์มา ทำเป็นแต่เฉพาะปืนลูกกรดก็ไม่ถูกนัก เพราะเออร์มาเคยทำปืนสไนเปอร์แบบที่ใช้กระสุนแรงสูงหนักหน่วงพิเศษ แถมยังเป็นปืนที่เปลี่ยน ลำกล้องได้ง่ายๆอีกด้วย ดูเหมือนจะเปลี่ยนได้ 3 ขนาด ระหว่าง .300 วินฯแม็กฯ, .338 วินฯแม็กฯ และ .338 ลาปัว แม็กฯ

ปืนลูกกรดเออร์มา EM1 รุ่นแรกๆ นั้นจะมีรูปร่างเหมือนคาร์ไบน์เอ็มวันเอามากๆ ขนาดที่ผมเคยเอาไปคุยเล่นกันว่า ถ้าติดฐานสำหรับรับด้ามดาบปลายปืนอีกสักชิ้นหนึ่งแล้วละก็ เอาเจ้าเออร์มาตัวนี้ไปสะพายเข้าเวรเข้ายามได้เลย

ทีนี้ต่อมาในระยะหลังกระแสรังเกียจปืนรูปร่างเหมือนกับปืนสงครามชักมีมากขึ้น อาการนี้จะไปตกหนักกับปืนสงครามแท้ๆ ที่เอาไปตัดฟังก์ชัน การยิงออโตเมติกออกแล้ว เอามาขายในตลาดพาณิชย์ ซึ่งผมก็ออกจะเห็นใจทางหน่วยงานสรรพสามิต หรือ ATF (Alcohol Tobacco Firearms) ของอเมริกันอยู่พอสมควรคิดดูนะครับปืน AK-47 จากจีนหรือประเทศในเครือสหภาพโซเวียตเดิม เอามาตัดกลไกยิงออโตออกไปแล้วส่งเข้ามาขาย ในอเมริกากระบอกละไม่ถึงสองร้อยเหรียญถูกกว่าปืนลูกกรดซีแซดเสียอีก เผลอๆ ถ้าเป็นปืนเก่าอาจจะราคาขายกันไม่ถึงร้อยเหรียญก็มี ส่วนกระสุนยิ่งแสบเข้าไปอีก ผมเคยเห็นในแคตตาล็อกที่เขาเสนอขายกระสุน 7.62x39 มม. หรือกระสุนอาก้าแบบที่ผลิตในรัสเซียแท้ๆ ขายยกหีบ 1,000 นัดในราคา 99 เหรียญ ตกนัดละไม่ถึง 10 เซ็นต์ คือ ราคาพอๆกับลูกกรดอีเลย์คลับกล่องสีส้ม ในบ้านเราเจอแบบนี้ถ้าขืนทางการไม่จำกัดปืนแบบนี้มีหวังทะลักเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง

ไม่เพียงแต่อเมริกาจะห้ามปืนสงครามจากต่างประเทศนะครับ แม้แต่ปืนโคลท์ AR-15 กับพรรคพวกที่หน้าตาคล้ายๆกัน อย่างเช่น บุชมาสเตอร์ โอลิมปิกอาร์ม สโตนเนอร์ หรือว่าเจพีเอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นปืนที่เมดอินยูเอสเอแท้ๆ ยังต้องพยายามแต่งหน้าทาปากตัวเองให้ห่างไกลจากปืน M16 ให้มากที่สุด ในกลุ่มนี้โคลท์ดูจะใจถึงกว่าเพื่อนเพราะแค่ทำออกมาเป็นลำกล้องแบบไม่มีปลอกลดแสง หรือไม่ก็ใช้เป็นลำกล้องสเตนเลสส์ แต่บางยี่ห้อถึงกับแต่งสีโครงปืนเป็นสีทอง สีเขียวเรืองแสงหรือไม่ ก็เป็นสีชมพูออกสีม่วงไปเลย ดูภาพข่าวแข่ง NRA รุ่นไฮ-เพาเวอร์ไรเฟิลแล้วนึกว่า เป็นปืนจากหนังสตาร์วอร์

พอมาถึงเออร์มาของเราที่ถึงแม้จะเป็นแค่ปืนลูกกรดรูปร่างเหมือนกับปืนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็พลอยโดนหางเลขไปกับเขาด้วย โรงงานต้องมีการเขียนสีตีกรอบกันใหม่ ซึ่งก็ทำง่ายๆครับ แค่เปลี่ยนสต๊อกให้เป็นแบบสปอร์ตโดยการยืดรางปืนให้ยาวออกไปนิดหน่อย ปรับรูปร่างของคอปืนกับพานท้ายใหม่ให้เป็นแบบธัมป์ โฮล หรือเจาะรูสอดนิ้วหัวแม่มือ แถมด้วยที่รองแก้มยกโหนกสูง แต่ระบบกลไกการทำงานทุกอย่างยังเหมือนเดิม

เออร์มาเป็นปืนลูกกรดที่ทำงานในระบบโบล์วแบ็กเหมือนกับปืนลูกกรดออโตอื่นๆ ในการยิงนัดสุดท้ายลูกเลื่อนจะค้างเพื่อเตือนว่ากระสุนหมด การค้างของลูกเลื่อนไม่ได้เกิดจากคันค้างลูกเลื่อนเหมือนกับปืนทั่วไป แต่มาจากการที่ลิ้นซองกระสุนขึ้นมาขวางทางเดินลูกเลื่อน ดังนั้นการปลดซองกระสุนจึงเป็นการปล่อยลูกเลื่อนเดินหน้าไปในตัว ในการบรรจุกระสุนชุดใหม่เราต้องดึงคันรั้งลูกเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง

ระบบศูนย์ของเออร์มาทำให้รูปร่างเหมือนกับคาร์ไบน์เอ็มวัน เพียงแต่ระบบการติดตั้งจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือของแท้ นั้นศูนย์หลังทั้งแท่นจะเข้าลิ่มสอดเข้ามาทางด้านข้าง แต่ของเออร์มาจะทำเป็นรางตามยาวในลักษณะของฐานกล้องตามมาตรฐานปืนลูกกรดทั่วๆไป แล้วเอาศูนย์หลังทั้งแท่งสอดเข้ามาในรางมีสกรูยึดไว้อย่างเรียบร้อย ส่วนการปรับศูนย์นั้นยังคงเหมือนกับคาร์ไบน์ เอ็มวันทุกอย่าง คือปรับซ้ายขวาโดยหมุนปุ่มเพื่อเลื่อนใบศูนย์หลังไปทางด้านข้าง

ส่วนการปรับสูงต่ำก็จะเลื่อนใบศูนย์ไปตามทางลาดโดยมีล็อกเป็นระยะๆ ต่างกันนิดเดียวตรงที่ของคาร์ไบน์เอ็มวันเขาจะปรับศูนย์ได้จาก 100 ถึง 300 เมตรแล้วมีตัวเลขระยะบอกเอาไว้ด้วย แต่ของลูกกรดเออร์มาจะปรับได้ระหว่าง 25 ถึง 100 เมตร และไม่มีตัวเลขระยะซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะกระสุนลูกกรดก็ยิงได้ไม่ไกลนักอยู่แล้ว ตอนยิงทดสอบเราพบว่าเออร์มาปรับศูนย์มาเชื่อถือได้ดีทีเดียว

ปืนกระบอกที่เรานำมาทดสอบนี้เป็นปืนเก่าฝากขายไว้ที่ ศ.ธนพล เข้าใจว่าซองกระสุนคงจะสกปรก พอบรรจุกระสุนเต็มซองกระสุนแล้วปืนจะยิงขัดลำ แต่ถ้าบรรจุไม่เกิน 10 นัดก็ยิงได้ราบรื่นดี.

รายละเอียด ปืนเออร์มา อีจีเอ็ม-1 สปอร์ต
ลักษณะทั่วไป
การทำงาน
ขนาด
ความจุ
ความยาวตลอด
Drop at comb
Drop at heel
แรงเหนี่ยวไก
น้ำหนักปืน
ความยาวลำกล้อง
เกลียวลำกล้อง
ศูนย์หลัง
ศูนย์หน้า
ระยะศูนย์
ระบบฐานกล้อง
ศูนย์กล้อง
แรงเหนี่ยวไก
ระบบความปลอดภัย
วัสดุ
ผู้ผลิต
ผู้นำเข้า
ปืนลูกกรดกึ่งอัตโนมัติ รูปร่างเลียนแบบปืนสงคราม
ระบบโบลว์แบ็ก
.22LR
15+1 นัด
36 นิ้ว
1.75 นิ้ว
2 นิ้ว
14.1 นิ้ว
3 กก. หรือ 6.6 ปอนด์ (คาร์ไบน์ของแท้ 5.42 ปอนด์)
18 นิ้ว
6 เกลียว เวียนขวา ครบรอบที่ 16 นิ้ว
ศูนย์รู ปรับได้ทั้งซ้าย-ขวา และสูง-ต่ำ
เสาตั้ง มีแผ่นบังศูนย์ (Sight guards)
21 นิ้ว
รางมาตรฐานปืนลูกกรด (3/8 นิ้ว)
บุชแนล 1.75-4x32
ประมาณ 5 ปอนด์
คันห้ามไกโดยตรง
โครงปืนเป็นอะลูมินั่ม สต๊อกไม้เคลือบสีดำด้าน
Erma Werke GmbH Dachau, Germany
ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล บนดิโอลด์สยามพลาซ่า โทร. 223-6457


 

 

ภาพเต็มด้านขวาของเออร์มา อีจีเอ็ม-1

 

 

ภาพเต็มด้านซ้ายของเออร์มา อีจีเอ็ม-1

 

 

ซองกระสุนมี 2 ชั้น ข้างในเป็นลูกกรดแท้
แล้วส่วนล่างพอกขึ้นมาทำเลียนแบบ
ให้ดูคล้ายๆไปอย่างนั้นเอง แต่จริงๆ แล้วก็ยังบางและแคบกว่าของจริง

 

 

ในการยิงนัดสุดท้าย ปืนจะแขวนลูกเลื่อน
ค้างไว้เป็นการเตือนว่ากระสุนหมด
แต่เมื่อปลดซองกระสุนเปล่าออกมาแล้ว
ลูกเลื่อนก็จะปิดเข้าไปตามปกติ

 

 

พ.ท.สุพินท์ สมิตะเกษตริน (ผู้เขียน)
ยิงทดสอบที่ระยะ 25 เมตร

 

 

กลุ่มกระสุนที่ยิงด้วยศูนย์เปิด

 

 

กลุ่มกระสุนที่ใช้ศูนย์กล้อง


 

โปรดอ่านต่อใน นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 311 กันยายน 2543 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com